กรมอนามัย แนะวิธีเลือกซื้อ "เนื้อจระเข้" ส่วนไหนดีสุด ย้ำก่อนกินต้องปรุงสุก
วันนี้ (19 ม.ค.65) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงที่เนื้อหมูราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มหันมาให้ความสนใจบริโภคเนื้อจระเข้ เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกมากขึ้น
แต่เนื่องจากเนื้อจระเข้ จระเข้จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลื้อยคลาน อาจมีแบคทีเรียปนเปื้อน เช่น เชื้อซัลโมเนลลา ที่ทำให้เกิดโรค เช่น ไทฟอยด์ ท้องร่วง และความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร
ดังนั้น จึงควรล้างมือ และอุปกรณ์ทุกครั้งก่อนแปรรูปเนื้อสัตว์ เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของแบคทีเรีย และปรุงสุกในทุกเมนู งดการกินสุกๆ ดิบๆ
สำหรับการเลือกซื้อเนื้อจระเข้ ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ควรเลือกเนื้อจากส่วนหาง (บ้องตัน) ถือเป็นส่วนที่ดีที่สุด เนื้อที่ดีควรสดมีสีทึบ ไม่มีกลิ่นเหม็น ต้องจัดเก็บในช่องแช่แข็ง ในอุณหภูมิตั้งแต่ 5 ถึง 0 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง
แต่หากต้องการเก็บนานควรแช่แข็งที่อุณหภูมิตั้งแต่ -8 องศาเซลเซียส จะเก็บรักษาได้ 2-4 เดือน แต่ถ้าตั้งแต่ -18 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 10-12 เดือน การแช่แข็งอย่างถูกต้อง ต้องตัดเป็นส่วนๆ ห่อด้วยกระดาษฟอยล์ฟิล์มยืดหรือกระดาษพาร์ชเมนท์ เนื้อห่อใส่ถุงแล้วนำไปแช่ตู้เย็น
นอกจากนี้ ไม่ควรล้างเนื้อสัตว์ก่อนนำไปแช่แข็งเพราะจะทำให้อายุการเก็บสั้นลง แต่หากต้องการ ยืดระยะเวลาออกไปหลายวัน ให้ห่อด้วยกระดาษพาร์ชเมนท์เคลือบด้วยน้ำมันพืช และเมื่อต้องการละลายเนื้อสัตว์นั้น ควรใช้วิธีธรรมชาติเพื่อคงสารอาหารไว้ หลีกเลี่ยงการละลายเนื้อในน้ำร้อน
ด้าน พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า คุณค่าทางอาหารของเนื้อต่างๆ ดังนี้
- เนื้อจระเข้ มีพลังงานต่ำ ไขมันน้อย โดยเนื้อจระเข้ 100 กรัม มีพลังงาน 99 กิโลแคลอรี โปรตีน 21.5 กรัม ไขมัน 2.9 กรัม และโคเลสเตอรอล 65 มิลลิกรัม
- เนื้อหมู 100 กรัม มีพลังงาน 107 กิโลแคลอรี โปรตีน 22.0 กรัม ไขมัน 2.0 กรัม และโคเลสเตอรอล 55 มิลลิกรัม
- เนื้อไก่ 100 กรัม มีพลังงาน 145 กิโลแคลอรี โปรตีน 22.2 กรัม ไขมัน 6.2 กรัม และโคเลสเตอรอล 62 มิลลิกรัม
- เนื้อวัว 100 กรัม มีพลังงาน 121 กิโลแคลอรี โปรตีน 21.2 กรัม ไขมัน 4.0 กรัม และโคเลสเตอรอล 51 มิลลิกรัม.
ข้อมูลจาก กรมอนามัย
ภาพจาก TNN ONLINE