รีเซต

ผลวิจัยชี้แหล่งสัมผัสติดโควิด-19 แต่หมั่นทำความสะอาด ฆ่าเชื้อได้!

ผลวิจัยชี้แหล่งสัมผัสติดโควิด-19 แต่หมั่นทำความสะอาด ฆ่าเชื้อได้!
มติชน
5 มีนาคม 2563 ( 17:43 )
28

ทีมวิจัยจากศูนย์กิจการโรคติดต่อแห่งชาติ (เอ็นซีไอดี) ของสิงคโปร์ เผยแพร่ผลวิจัยเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในวารสารวิชาการสมาคมแพทย์อเมริกัน (เจเอเอ็มเอ) เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมาว่า จากการศึกษาด้วยการเก็บตัวอย่างของห้องรักษาตัวผู้ป่วยจากการติดเชื้อในสิงคโปร์ พบว่า ไวรัสก่อโรคโควิด-19 ปนเปื้อนอยู่ในหลายจุด ทั้งในห้องนอนและห้องน้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยในการแพร่ระบาดที่สำคัญเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะไม่แน่ชัดว่าเป็นสัดส่วนเท่าใดก็ตาม

ทีมวิจัยใช้การเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิด-19 3 ราย แต่ละรายถูกแยกตัวรักษาในห้องแยกโรคในช่วงระหว่างปลายเดือนมกราคมจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเก็บตัวอย่างจากห้องทั้ง 3 เป็นระยะ รวม 5 วันในช่วงสองสัปดาห์ดังกล่าว โดยเก็บตัวอย่างแรกจากห้องผู้ป่วยรายหนึ่งก่อนที่จะมีการทำความสะอาด ส่วนอีก 2 ห้อง เก็บตัวอย่างหลังจากที่ทำความสะอาดแล้ว

ห้องที่เก็บตัวอย่างก่อนทำความสะอาด เป็นของผู้ป่วยที่มีอาการน้อยที่สุด อีกสองห้องเป็นของผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง ซึ่งมีทั้งไอและเป็นไข้ รายหนึ่งมีอาการหายใจหอบสั้นๆ อีกรายมีอาการไอเอาสารคัดหลั่งจากปอดออกมา

แม้อาการจะไม่เท่ากัน แต่ผลการศึกษาพบว่า ในห้องผู้ป่วยที่เก็บตัวอย่างก่อนติดเชื้อ พบเชื้ออยู่บนผิวสัมผัสถึง 13 จุดจาก 15 จุดที่ตรวจสอบ ทั้งบนเก้าอี้, ราวกั้นเตียง, กระจกหน้าต่างห้อง, พื้น และ สวิตช์ไฟ ภายในห้องน้ำ พบเชื้อใน 3 จุดจาก 5 จุดที่ตรวจสอบ มีทั้งบริเวณอ่างล้างหน้า, ลูกบิดประตู และ โถชักโครก

ทีมวิจัยไม่พบตัวอย่างเชื้อในอากาศในห้องผู้ป่วย แต่เมื่อเก็บตัวอย่างจากผิวช่องท่อระบายอากาศกลับพบเชื้อซึ่งแสดงให้เห็นว่า ละอองสารคัดหลั่งจากการไอหรือจามไหลไปกับอากาศก่อนไปติดอยู่ในบริเวณดังกล่าว

ในขณะเดียวกันทีมวิจัยพบด้วยว่า ไวรัสถูกกำจัดได้ด้วยมาตรการการทำความสะอาดพื้นผิว 2 ครั้งต่อวันและทำความสะอาดพื้นทุกวัน ซึ่งแสดงว่ามาตรการทำความสะอาดที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นเพียงพอต่อการป้องกันการแพร่ระบาดจากการสัมผัสนั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง