รีเซต

วัคซีน : จุฬาฯ เตรียมทดลอง ChulaCov19 ในคน

วัคซีน : จุฬาฯ เตรียมทดลอง ChulaCov19 ในคน
ข่าวสด
18 กุมภาพันธ์ 2564 ( 23:45 )
45

ปลายเดือนเมษายนนี้ สภากาชาดไทย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเริ่มทดลองวัคซีน COVID-19 ชนิด mRNA (ส่วนหนึ่งของรหัสพันธุกรรมของไวรัส) ระยะแรกในคน โดยจะเป็นการทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครอายุน้อย

 

ศ.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ให้ข้อมูลว่าแม้ขณะนี้กว่า 80 ประเทศทั่วโลกจะเริ่มฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 190 ล้านโดส และมีการพัฒนาวัคซีนหลายชนิด แต่ไทยยังจำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนาวัคซีนของตัวเองต่อไป ซึ่งหากเป็นไปตามแผนจะเริ่มผลิตได้ 1-5 ล้านโดสในปลายปีนี้ และในปีถัดไปจะผลิตได้อย่างน้อย 20 ล้านโดส

 

Reuters

 

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่าที่ผ่านมาไทยไม่เคยทำวงจรห่วงโซ่ในการพัฒนาวัคซีน การคิดค้นไปจนถึงการผลิตวัคซีนได้เองถือเป็นการสร้างสร้างศักยภาพอย่างครบวงจร และ "เราจะพึ่งตัวเองได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะพิสูจน์ได้ว่าในกรณีที่เชื้อมันกลายพันธุ์ และดื้อวัคซีน"

 

 

สำหรับผลทดลองวัคซีน ChulaCov19 ในสัตว์ทดลองนั้น จากการเปรียบเทียบกับวัคซีนโมเดอร์นาซึ่งพัฒนาโดยใช้รหัสพันธุกรรมส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัสเช่นเดียวกัน ก็พบว่าได้ผลลัพธ์ไม่ด้อยกว่ากัน และจากการทดลองโดยใช้วัคซีนในปริมาณ 10 ไมโครกรัม ยังได้ผลลัพธ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า ขณะที่การทดลองในหนูพันธุ์พิเศษ (Transgenic Mice) พบว่าสามารถป้องกันอาการของโรคโควิด-19ในสัตว์ทดลองได้ 100%

 

ศ.นพ.เกียรติระบุว่าวัคซีนที่จุฬาฯ พัฒนานี้สามารถเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิ 2-8 องศา ได้นาน 1 เดือน

ทั้งนี้ วัคซีนที่ผลิตโดย "โมเดอร์นา" (Moderna) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพและเวชภัณฑ์จากสหรัฐฯ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ เกือบ 95%

 

เตรียมรับอาสาสมัครระยะแรก

ขณะนี้โครงการผลิตวัคซีนของจุฬาฯ อยู่ระหว่างรอให้คณะกรรมการจริยธรรมของสำนักงานอาหารและยา (อย.) อนุมัติให้ทดลองในคน และจะเปิดรับสมัครอาสาสมัครเป็น 2 ระยะโดยแบ่งตามอายุ คือ อาสาสมัครกลุ่มอายุน้อย 18-55 ปี และกลุ่มอายุ 65-75 ปี เพื่อดูปริมาณวัคซีนที่เหมาะสม

 

"เราไม่ควรจะเอาสูตรฝรั่งมา แล้วฉีดสูตรไทยเลย เพราะว่าเราพัฒนาเราก็น่าจะดูว่าโดสคนไทยน่าจะใช้ที่เท่าไหร่"

 

ขณะเดียวกันจุฬาฯ ได้เริ่มพัฒนา วัคซีน ChulaCov19 รุ่นที่ 2 ควบคู่ไปด้วยเพื่อให้การคุ้มกันครอบคลุมไวรัส 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ดั้งเดิม สายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หากประสบความสำเร็จก็จะผลิตวัคซีนดังกล่าวเองภายในประเทศร่วมกับบริษัท BioNet Asia ซึ่งมีห้องทดลองและโรงงานผลิตวัคซีนในไทย

 

ในการแถลงข่าววันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมชี้แจงว่า โครงการ ChulaCov19 เป็นสิ่งที่รัฐบาลสนับสนุน เพราะ "อยากให้วัคซีนไทยเป็นตัวเป็นตัวปิดแก็ป (ช่องว่าง) แล้ววันนึงเราจะได้เปลี่ยนการพึ่งพาการนำเขา หรือพึ่งพาผู้ผลิตมาเป็นการพึ่งพาตนเอง"

 

แต่ในระหว่างรอความสำเร็จของโครงการนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า ไทยได้จัดหาวัคซีนชนิดอื่นไว้รองรับสถานการณ์แล้วจำนวน 63 ล้านโดส คาดว่าจะครอบคลุมประชากร 40-50 ล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง