โควิด-19 : เหตุใดเอกวาดอร์จึงเผชิญวิกฤตไวรัสโคโรนารุนแรงที่สุดในลาตินอเมริกา
กัวยาส ไม่เพียงเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 รุนแรงที่สุดในประเทศเอกวาดอร์ แต่ยังเป็นพื้นที่การระบาดรุนแรงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกาอีกด้วย
ภาพของศพที่ถูกนำมาทิ้งไว้ตามริมถนน หรือศพที่ถูกเก็บไว้ตามบ้านเรือนเพื่อรอนำไปประกอบพิธีฝังจนเริ่มเน่าเปื่อยส่งกลิ่นเหม็น ได้สร้างความสลดหดหู่ใจให้แก่ผู้ที่ได้เห็น ทว่าเมื่อทางการเปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศว่ามีเพียง 400 กว่าราย กลับสร้างความประหลาดใจ และเมื่อมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปเปรียบเทียบและพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียด ก็ทำให้ความจริงที่น่าตกใจถูกเปิดเผยขึ้น
- เมื่องานวันเกิดคร่าชีวิตสามพี่น้องจากโควิด-19
- คำบอกเล่าจากพยาบาลห้องไอซียู ผู้ต้องเป็นคนถอดเครื่องช่วยหายใจ
- เปิดชีวิตคนไทยในต่างแดนที่สูญเสียจากโควิด-19
เอกวาดอร์ (Ecuador) มีประชากร 17 ล้านคน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ มีเส้นศูนย์สูตร (equator) พาดผ่าน ด้วยเหตุนี้ ประเทศจึงมีชื่อเป็นภาษาสเปนที่แปลว่า เส้นศูนย์สูตร และจัดเป็นประเทศรายได้ปานกลาง มีรายได้ต่อหัวประชากรต่อปีที่ 11,420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (3.65 แสนบาท) สูงกว่าฟิลิปปินส์เล็กน้อย แต่น้อยกว่าไทยมาก
คณะทำงานเฉพาะกิจไวรัสโคโรนาของเอกวาดอร์ เปิดเผยว่า จังหวัดกัวยาสมีผู้เสียชีวิตกว่า 6,700 ราย ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือน เม.ย. ซึ่งมากกว่ายอดผู้เสียชีวิตรายเดือนในช่วงเวลาปกติเกือบ 6,000 ราย
ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียว แต่มาจากสาเหตุการตายอื่น ๆ ด้วย เพราะวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขท้องถิ่นต้องเผชิญกับคลื่นคนไข้ที่ไหลบ่า และทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ไม่ได้รับการรักษาที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงที
กวัยอากิล เมืองแห่งความตาย
นางแคตตี เมฆิอา พนักงานห้องดับจิตแห่งหนึ่งในเมืองกวัยอากิล เมืองเอกของจังหวัดกัวยาส และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของเอกวาดอร์ เล่าว่า "เราพบศพผู้คนอยู่ในรถยนต์ รถพยาบาล ตามบ้านเรือนและท้องถนน"
"สาเหตุหนึ่งคือเมื่อพวกเขาถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลไม่รับรักษาเพราะเตียงไม่พอ" เธอเล่า
วิกฤตไวรัสที่เกิดขึ้น ส่งผลให้บรรดาห้องดับจิตในเมืองที่มีประชากรกว่า 2.5 ล้านคนแห่งนี้ มีศพล้นจนจัดการไม่ทัน และส่วนใหญ่ต้องปิดให้บริการลงชั่วคราว เพราะพนักงานกลัวว่าจะติดเชื้อ
ด้วยเหตุนี้ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตจึงต้องเก็บศพของพวกเขาไว้ที่บ้านในระหว่างที่รอนำไปฝัง บ้างก็ปล่อยศพทิ้งไว้บนเตียงนานหลายวัน
ผู้คนที่ล้มตายจำนวนมาก ทำให้สุสานในเมืองกวัยอากิลมีที่ไม่พอฝังศพ ส่งผลให้ชาวบ้านต้องนำศพญาติพี่น้องของตนไปประกอบพิธีฝังในเมืองข้างเคียงแทน
ปัญหาดังกล่าวยังทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนโลงศพ จนชาวบ้านต้องใช้โลงกระดาษแข็งแทนโลงไม้ และยังมีการเกณฑ์นักโทษในพื้นที่มาช่วยกันผลิตโลงศพไม้เพื่อรองรับความต้องการที่พุ่งสูงขึ้น
ประธานาธิบดีเลนิน โมเรโน ของเอกวาดอร์ ยอมรับว่า รัฐบาลล้มเหลวในการจัดการกับเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุขครั้งนี้
จนถึงวันที่ 16 เม.ย. รัฐบาลยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วประเทศว่ามีเพียง 400 คน
แต่หลังจากคณะทำงานเฉพาะกิจไวรัสโคโรนาได้เข้าถึงข้อมูลทั้งหมด พวกเขากลับได้พบข้อเท็จจริงที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
นายฆอร์เก วอเต็ด หัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจไวรัสโคโรนา ระบุว่า "ข้อมูลที่ได้รับจากกระทรวงมหาดไทย, สุสาน, ทะเบียนราษฎร์ และทีมงานของเรา เราได้ประเมินว่า จังหวัดกัวยาส มีผู้เสียชีวิต 6,703 ราย ในช่วง 15 วันแรกของเดือน เม.ย."
"ตามปกติที่นี่มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 2,000 คน ดังนั้นเราจึงมีผู้เสียชีวิตมากกว่าปกติถึง 5,700 คน" เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตที่พบไม่ได้มีสาเหตุการตายจากโรคโควิด-19 ทั้งหมด โดยบางรายเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว, ปัญหาเกี่ยวกับไต และเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์อื่น ๆ เพราะไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาล
ผลกระทบต่อเนื่อง
สิ่งที่เกิดขึ้นในเอกวาดอร์ ทำให้เกิดคำถามว่า โรคระบาดครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องแบบเดียวกันในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา และพื้นที่อื่นในโลกที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอหรือไม่
ในเมืองอู่ฮั่นของจีน แหล่งกำเนิดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น ทางการได้ปรับเพิ่มตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ขึ้นจากเดิมถึง 50% ซึ่งเป็นระดับที่น่าตกใจ
ส่วนสเปน หนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในยุโรป ก็มีความขัดแย้งกันในวิธีการรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลของโรคโควิด-19 ในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ
ดร.คาร์โลส มอว์ยิน บอกกับบีบีซีว่า "หน่วยงานสาธารณสุขของเอกวาดอร์มักรายงานข้อมูลต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว มันคือหนึ่งในจุดอ่อนที่สุดของหน่วยงานรัฐในประเทศ"
เขาคิดว่าปัจจัยต่าง ๆ ในเอกวาดอร์จะทำให้ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ขั้นรุนแรงที่สุด
"ทั้งระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอ และจำนวนคนไข้จำนวนมาก ทำให้หอผู้ป่วยวิกฤต (ไอซียู) ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อีกต่อไป" เขากล่าว
แม้ว่าทางการเอกวาดอร์ได้ประกาศขยายมาตรการห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานในยามวิกาล และให้คำมั่นจะเพิ่มการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยให้มากขึ้น แต่สำหรับผู้คนในเมืองกวัยอากิลที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป นี่อาจเป็นเรื่องที่สายเกินไปเสียแล้ว