รีเซต

หมอตอบชัด! "ชาบู-สุกี้-ปิ้งย่าง" ร้านไม่เกิน 2 คูหา ทำตามกฎ เปิด/นั่งกินได้ แนะไปเหลื่อมเวลาลด10%

หมอตอบชัด! "ชาบู-สุกี้-ปิ้งย่าง" ร้านไม่เกิน 2 คูหา ทำตามกฎ เปิด/นั่งกินได้ แนะไปเหลื่อมเวลาลด10%
มติชน
1 พฤษภาคม 2563 ( 15:25 )
246
หมอตอบชัด! "ชาบู-สุกี้-ปิ้งย่าง" ร้านไม่เกิน 2 คูหา ทำตามกฎ เปิด/นั่งกินได้ แนะไปเหลื่อมเวลาลด10%

หมอตอบชัด! “ชาบู-สุกี้-ปิ้งย่าง” ร้านไม่เกิน 2 คูหา ทำตามกฎ เปิด/นั่งกินได้ แนะไปเหลื่อมเวลาลด10%

ชาบู-สุกี้-ปิ้งย่าง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัด สธ. และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงชี้แจงถึงลักษณะข้อจำกัดของการร้านอาหารประเภทชาบู/สุกี้/ปิ้งย่าง ซึ่งเป็น 1 ใน 6 กลุ่มกิจกรรม/กิจการ ที่จะได้รับการผ่อนปรนให้เปิดทำการได้ในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การผ่อนปรนมาตรการที่ทางรัฐบาลได้ประกาศออกมานั้น ซึ่งจะมีรายละเอียดและคู่มือการดำเนินการออกมากำหนด โดยประชาชนได้ตั้งคำถามมากมายว่า สิ่งใดทำได้หรือทำไม่ได้ จึงอยากให้กลับมาดูว่า เส้นทางของไวรัส เกิดขึ้นอย่างไร ก็จะสามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า โดยวิธีการติดเชื้อไวรัสจะมี 2 เส้นทาง คือ 1.ผู้ที่มีเชื้อไวรัส เมื่อเวลาที่ ไอ จาม สารคัดหลั่งออกมาสู่ผู้อื่นก็จะเป็นการติดเชื้อได้ จึงต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยเสมอ เพื่อลดโอกาสการรับเชื้อไวรัส 2.ผู้ที่มีเชื้อไวรัส อาจจะมีสารคัดหลั่งติดอยู่ที่ฝ่ามือ และเมื่อไปจับสิ่งของหรือสิ่งสัมผัสร่วม แล้วมีผู้อื่นมาสัมผัสต่อโดยไม่ได้ระวัง ก็จะเป็นการรับเชื้ออีกทางหนึ่ง

“หากประชาชนป้องกันตัวเอง ไม่นำมือมาสัมผัสปาก จมูก ก็ไม่มีวันติดเชื้อได้ จึงอยากให้ทุกคนกลับมาดูว่าเส้นทางการติดเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่ง จะเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วเราจะป้องกันอย่างไร มันเป็นเหตุผล ตรรกะง่ายๆ ที่เราพิจารณาได้ ดังนั้น เมื่อมีการผ่อนปรน การเข้าไปกินอาหารในร้านสุกี้ 1 โต๊ะ และอยู่คนละฝั่งกัน อาหารที่กินก็ต้มสุกแล้ว แยกกินถ้วยใครถ้วยมัน อย่าไปใช้อุปกรณ์ร่วมกัน โอกาสติดเชื้อก็ใกล้ๆ เป็นศูนย์ ดังนั้นนี่คือตัวอย่าง เมื่อเราผ่อนปรนแล้ว อาจจะมีการจัดการอย่างไร ให้เกิดความปลอดภัยในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด” นพ.ศุภกิจ กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าไปรับประทานกับใคร เช่น เป็นคนในครอบครัวที่เดิมทีมีก็รับประทานอาหารร่วมบ้านกันอยู่แล้ว การที่ไปนั่งโต๊ะรับประทานอาหารนอกบ้าน ก็ไม่ได้เสี่ยงมากกว่าเดิม แต่อาจจะเสี่ยงเพิ่มเติม คือ พนักงานที่เสิร์ฟ ผู้ที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆ จึงต้องกำหนดให้มีการจัดโต๊ะนั่งให้ห่างกัน พนักงานเสิร์ฟจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แยกอุปกรณ์ในการรับประทาน โดยการกำหนดของ ศบค.ให้เปิดกิจการร้านอาหาร 2 คูหา ที่ไม่ติดเครื่องปรับอาการ ดังนั้น ร้านที่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดก็สามารถเปิดได้ แต่จะต้องกำหนดเวลาในการรับประทาน และจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ

“ในความคิดส่วนตัวจะแนะนำว่า 1.เว้นระยะห่างของโต๊ะ แต่ละโต๊ะจัดให้มีการนั่งอย่างเหมาะสม และให้อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีแอร์ แต่มีพัดลมดูดออกนอกร้าน 2.จัดเวลาให้เหลื่อมกัน ใครยอมกินในเวลาที่ไม่ตรงมื้ออาหาร ได้รับส่วนลด 10% เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง” นพ.โสภณ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง