เมื่อเรื่องโลกร้อน..ร้อนถึงภาคธุรกิจ
TNN Wealth
21 กันยายน 2564 ( 13:10 )
95
จากรายงาน Global Risk Perception 2021 ล่าสุดของ World Economic Forum (WEF) ที่สำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม และกลุ่มผู้นำทางความคิดจากทั่วโลกในปี 2020 พบว่าวิกฤติภาวะโลกร้อนและก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งสำคัญที่นักธุรกิจจากทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและลงความเห็นตรงกันว่าเป็นความเสี่ยงระดับต้นๆ สำหรับธุรกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 3.2-4.5 องศาเซลเซียสจากอุณภูมิเฉลี่ยช่วงปี 1980-2010 GDP โดยเฉลี่ยต่อหัวภายในปี 2100 อาจลดลงไปถึง 23%
ความเสียหายจากผลของภาวะโลกร้อนไม่ใช่จะส่งผลแค่เรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เราจะเผชิญกับภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สูญเสียความหลากหลายทางชีวิภาพ (Biodiversity Loss) ซึ่งจะส่งผลกระทบกับมนุษย์ทุกคนบนโลก หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
.
และตั้งเป้าที่จะพาประเทศไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero มีแนวโน้มว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าเรื่องสภาพภูมิอากาศจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ภาคหนึ่งของเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับมหภาค
นี่จึงเป็นสัญญาณสำคัญของการปรับตัวของภาคธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ที่ควรหันมาใส่ใจกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะหลายประเทศได้นำเป้าหมายเรื่อง Net Zero เข้ามาผูกพันกับกฎหมายแล้ว และหลายประเทศกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งจะมีผลกับการทำธุรกิจข้ามชาติ โดยเฉพาะการนำเข้าและส่งออกอย่างแน่นอน
ข้ามฟากไปฝั่ง Silicon Valley ในปี 2020 มีการลงทุนเรื่องของ Climate Tech กันอย่างจริงจัง ข้อมูลจาก Pitch Book ระบุว่าเพียงครึ่งแรกของปี 2021 จำนวนกองทุนที่เกี่ยวกับการดูแลสภาพภูมิอากาศ (Climate-focused) เกิดขึ้นเท่ากับกองทุนที่ลงทุนในด้านนี้ทั้งหมดใน 5 ปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินลงทุนมากถึง 14,200 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 88% ของเงินลงทุนทั้งหมดในปี 2020 นี่เป็นสัญญาณที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะ Silicon Valley เป็นแหล่งของการพัฒนาเทคโนโลยี ที่มักจะกลายเป็น trend ของโลกเสมอ
แล้วทำไมหลายปีที่ผ่านมานักลงทุนจำนวนมากถึงขาดทุนจาก Clean Tech? เพราะ Clean Tech มาก่อนเวลาไปเล็กน้อย เหมือนกับ dot-com ยุคแรก หลายปีที่ผ่านมา เรื่องของก๊าซเรือนกระจกยังไม่เป็นปัญหาเร่งด่วนเท่าตอนนี้ ความหลากหลายและความพร้อมของเทคโนโลยีก็ยังไม่มากเท่าปัจจุบัน
ปัจจัยเร่งที่สำคัญคือความกดดันจากประชาคมโลกและความตกลงปารีสหรือ Paris Agreement ที่กำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2020 เพื่อควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
Climate Tech จึงเป็นแนวโน้มของเทคโนโลยีที่น่าจับตามองเพราะจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญ เทคโนโลยีที่อยู่ในกลุ่มนี้มีมากมาย ตั้งแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ Clean Tech เดิมคือพลังงานสะอาด เทคโนโลยีการจัดการขยะ บำบัดน้ำเสีย สร้างอากาศสะอาด สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การขนส่ง
และคลอบคลุมกว้างขึ้นในเรื่องของ Geoengineering หรือ Climate Engineering คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อดัดแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหาร Plant-based meat ก็ถือเป็นเทคโนโลยีในกลุ่มนี้ รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการลดและดักจับคาร์บอน
ทุกวันนี้โลกได้เดินทางเข้าสู่ภาวะวิกฤติแล้ว เทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการแก้ปัญหาแต่คือความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในการสร้างก๊าซเรือนกระจก นี่อาจเป็นไฟล์ทบังคับและถึงเวลาที่ทุกบริษัทต้องหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนจะสายเกินไป!