โควิด-19 : ธนาคารโลกแนะรัฐเร่งสร้างงาน คาดเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 2 ปี

ธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าวชื่นชมไทยในการรับมือกับวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ว่าทำได้ดี แต่ก็ต้องแลกกับผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาล คาดว่าปีนี้ จีดีพีลดลงอย่างน้อย 5% คนไทยกว่า 8.3 ล้านคนเสี่ยงตกงานและรายได้ลดลง
รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของธนาคารโลกที่เผยแพร่วันนี้ (30 มิ.ย.) ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการป้องกันต่าง ๆ เช่น การปิดสถานที่ชุมชน สั่งห้ามการเดินทางและประกาศเคอร์ฟิว ทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันเกิน 1 เดือนแล้ว และมีจำนวนผู้เสียชีวิตคงที่ 58 ราย
แม้ว่าไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค แต่มาตรการปิดประเทศได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 15% ของจีดีพี
- ศบค.เห็นชอบต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ยืนยัน "ไม่ได้ปิดกั้นใคร"
- แผนที่ อินโฟกราฟิก ยอดติดเชื้อ-เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลก
- ธ.โลกห่วงบริการสาธารณสุขด้านส่งเสริม-ป้องกัน หากโควิด-19 อยู่ยาว
ภาคการส่งออกก็ได้รับผลกระทบเช่นกันและคาดว่าจะหดตัวลงประมาณ 6.3% ในปีนี้ เนื่องจากความต้องการสินค้าไทยในต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะลดลง 3.2% เนื่องจากมาตรการห้ามการเดินทางและรายได้ที่ลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ประเด็นสำคัญของรายงานธนาคารโลกฉบับนี้คือ การคาดการณ์ผลกระทบต่อการจ้างงานในไทย โดยธนาคารโลกประมาณการว่ากว่า 8.3 ล้านคนจะตกงานหรือสูญเสียรายได้จากวิกฤตโควิด-19 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ
- คนรุ่นใหม่ยุคล็อกดาวน์กับปัญหารุมเร้า ถูกเลิกจ้าง ตกงาน เรียนต่อสะดุด
- ธนาคารโลกคาดพิษโควิด-19 อาจฉุดเศรษฐกิจไทยตกต่ำมากเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย-แปซิฟิก
- สภาพัฒน์ฯ เผยไตรมาสแรกปี 63 มีคนว่างงานเกือบ 4 แสนคน
ธนาคารโลกยังคาดการณ์ด้วยว่าจำนวนผู้มีรายได้รายวันต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 169 บาท) ต่อวัน จะเพิ่มจำนวนขึ้นถึงเท่าตัว จาก 4.7 ล้านคนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 เป็นประมาณ 9.7 ล้านคนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ในไตรมาสที่ 3 คาดว่าจำนวนผู้มีรายได้น้อยกลุ่มนี้จะลดจำนวนลงเหลือ 7.8 ล้านคนจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้า ๆ
"ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ความท้าทายที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรที่จะช่วยให้ผู้ที่ตกงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อีกครั้ง ทั้งนี้ น่าจะได้นำมาตรการเสริมความคล่องตัวของตลาดแรงงานมาพิจารณา เช่น การให้เงินอุดหนุนค่าจ้างที่มุ่งเป้าไปสู่บุคคลที่เปราะบางที่สุดในภาคการผลิต เช่น เกษตรกรและแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงส่งเสริมให้มีการฝึกปฏิบัติงานไปพร้อมกับการทำงานจริงเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานอีกครั้ง" นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว
แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลจะมีมาตรการหลายประการเพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 รวมแล้วคิดเป็น 12.9% ของจีดีพี โดยเน้นมาตรการผ่อนคลายผลกระทบที่มีต่อครัวเรือนที่เปราะบางและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลก แนะนำว่าควรขยายมาตรการดังกล่าวไปยังกลุ่มผู้สูงอายุและแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการตั้งเป้าโครงการไปที่กลุ่มคนยากจน
อีกกี่ปี่เศรษฐกิจไทยจะเหมือนเดิม
นายอาวินด์ แนร์ นักเศรษฐศาสตร์ประจําประเทศไทยของธนาคารโลกเปิดเผยว่าจากการวิเคราะห์แบบจำลองคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนโควิด ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนและมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนอัตราการเติบโตในปี 2564 คาดว่าจะเติบโต 4.1% เทียบกับการคาดการณ์ในปีนี้ ส่วนปี 2565 คาดว่าจีดีพีจะเติบโต 3.6%
นายแนร์กล่าวย้ำว่า ปัจจัยบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในไทยในปีนี้ดูเหมือนอุปสงค์ในประเทศถือเป็นปัจจัยเดียวที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม ในขณะที่ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังทำได้อย่างจำกัด
ยอดนิยมในตอนนี้
