รีเซต

สธ.ชี้ติดเชื้ออาจพุ่งวันละ 3 หมื่นราย ถ้าไม่ทำอะไร หลังผลล็อกดาวน์หมดแล้วใน 2 เดือน

สธ.ชี้ติดเชื้ออาจพุ่งวันละ 3 หมื่นราย ถ้าไม่ทำอะไร หลังผลล็อกดาวน์หมดแล้วใน 2 เดือน
ข่าวสด
7 ตุลาคม 2564 ( 15:09 )
40
สธ.ชี้ติดเชื้ออาจพุ่งวันละ 3 หมื่นราย ถ้าไม่ทำอะไร หลังผลล็อกดาวน์หมดแล้วใน 2 เดือน

สธ.ชี้ติดเชื้ออาจพุ่งวันละ 3 หมื่นราย ถ้าไม่ทำอะไร หลังผลล็อกดาวน์หมดแล้วใน 2 เดือน ย้ำต้องเข้ม 4 เรื่อง ทั้งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมตามเป้า ป้องกันตนเองสูงสุด ตรวจ ATK ใช้มาตรากร COVID Free Setting ตั้งเป้าเปิดประเทศใน พ.ย.-ธ.ค.

 

 

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า การระบาดทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง วันนี้สะสม 236.9 ล้านราย เสียชีวิต 4.8 ล้านกว่าราย อัตราเสียชีวิตคิดเป็น 2% สหรัฐอเมริกาตัวเลขสูง เสียชีวิตวันละ 1.7 พันราย ส่วนอังกฤษที่ประชากรใกล้เคียงไทย ฉีดวัคซีนครอบคลุมกว่าไทย แต่ยังมีผู้ติดเชื้อสูง 3.9 หมื่นราย เสียชีวิต 143 ราย ส่วนหลายประเทศในอาเซียนยังมีการติดเชื้อมากอยู่ แต่บางประเทศเริ่มไม่ได้รายงาน สำหรับประเทศไทยวันนี้รายงานติดเชื้อ 11,200 ราย เสียชีวิต 113 ราย รักษาหาย 10,087 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 109,022 ราย ภาพรวมการป่วยหนักปอดอักเสบลดลงจาก 5-6 พันราย เหลือ 3 พันราย ใส่ท่อช่วยหายใจก็ลดต่อเนื่องวันนี้รายงาน 715 ราย สถานพยาบาลยังมีเตียงเพียงพอ

 

 

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า พื้นที่ กทม.และปริมณฑลการติดเชื้อค่อยๆ ลดลงตามลำดับ และต่ำลงมาเรื่อยๆ ในระดับที่ควบคุมได้ ถือว่าค่อนข้างปลอดภัย เพราะทั้งจำนวนการฉีดวัคซีน การติดเชื้อรายวัน ถือว่าดีขึ้น ส่วนจังหวัดต่างๆ ช่วงแรกลดลง ตอนนี้ทรงตัว และมีแนวโน้มอาจจะเพิ่มขึ้นได้ แต่เมื่อแยกตามพื้นที่พบว่า พื้นที่ชายแดนใต้กำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับ และเป็นตัวทำให้กราและตัวเลขของต่างจังหวัดสูงขึ้น ดังนั้น ต่างจังหวัดที่ไม่รวมชายแดนใต้สถานการณ์ถือว่าดีขึ้นช้าๆ ยังอยู่ในการควบคุม ส่วนชายแดนใต้ติดเชื้อมากขึ้นต้องลงไปควบคุมโรค เร่งการฉีดวัคซีน และขอความร่วมมือดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อลดการติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้อีกระยะอาจมีปัญหาคล้าย กทม.

 

 

"เมื่อล็อกดาวน์เราสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ เมื่อปรับมาตรการหากไม่ทำอะไรเลย คาดการณ์ว่าการติดเชื้อรายวันอาจกลับขึ้นมาพุ่งไปถึง 3 หมื่นราย จึงต้องอาศัยมาตรการอื่นๆ ควบคู่ด้วยเพื่อกดตัวเลข ซึ่งขณะนี้สถานการณ์จริงมาถึงทางแยกแล้ว ประสิทธิผลล็อกดาวน์น่าจะหมดแล้วหลังควบคุมได้ 2 เดือน แต่ถ้าร่วมมือกันก็จะลดลงมาได้" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

 

 

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สิ่งที่ สธ.เพื่อลดการติดเชื้อมี 4 มาตรการ คือ 1.วัคซีน โดยร่วมมือกันฉีดให้เป็นตามแผน คือ สิ้น ต.ค.นี้เข้ม 1 ให้ได้ 60% พ.ย. 75% และ ธ.ค. 85% และเข็ม 2 จะฉีดได้ตามมา ทำให้ควบคุมได้ 2.การป้องกันตนเองครอบจักรวาล (Universal Prevention) คิดว่าทุกคนที่ใกล้ชิดมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อสู่เราได้ แม้กระทั่งคนในบ้าน ต้องป้องกันเราและป้องกันทุกคน ซึ่งผลสำรวจกรมอนามัยพบว่า คนป้องกันตนเองดีเมื่อออกนอกบ้าน แต่ในบ้านไม่ค่อยป้องกัน ทำให้ติดเชื้อในครัวเรือน เป็นต้นเหตุคลัสเตอร์ต่างๆ ได้ 3.การตรวจด้วย ATK โดยนำมาใช้ในสถานพยาบาล องค์กรต่างๆ ประชาชนทั่วไป ซึ่งช่วงแรก สปสช.ซื้อแจกประชาชนที่เสี่ยง ซึ่งเมื่อรับแล้วขอให้ตรวจ อย่าเก็บไว้เฉยๆ เพราะจะเสียหายหรือหมดอายุ และตรวจแล้วให้รายงานกลับเข้ามา ซึ่งตอนนี้การตรวจ ATK พบการติดเชื้อประมาณ 1% เพราะส่วนใหญ่ติดเชื้อไม่มีอาการ ซึ่งการตรวจและทราบผลบวกก็จะช่วยให้อยู่ในระบบการดูแลไม่ให้แพร่เชื้อต่อ

 

 

และ 4.การรวมตัว ซึ่งรัฐบาลผ่อนคลายกิจการกิจกรรมทำให้มีการรวมตัว เช่น ร้านอาหาร โรงหนัง การประชุมสัมมนา การละเล่นต่างๆ ซึ่งเราอยากให้สถานที่เหล่านี้มีความปลอดภัย จึงต้องมีมาตรการ COVID Free Setting คือสถานที่ปราศจากโควิด มีมาตรการคือ สถานที่ต้องสะอาดปลอดภัยไม่มีเชื้อ บรรยากาศไม่ให้เกิดการติดเชื้อ เช่น มีการจัดระบบระบายอากาศ เว้นระยะห่าง ใช้เจลแอลกอฮอล์ พนักงานบริการต้องมีภูมิคุ้มกันไม่มีเชื้อ คือ ฉีดวัคซีน 2 เข็ม และตรวจ ATK ผู้ใช้บริการก็เช่นเดียวกัน ต้องมีภูมิและไม่มีเชื้อ ถ้าทำแบบนี้แม้รวมกลุ่มอาจจะไม่ปลอดภัยนักก็จะไม่ระบาดใหญ่หรือแพร่เชื้อจำนวนมาก ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน

 

 

 

"ถ้าอยากอยู่กับโควิดอย่างปลอดภัยเราต้องร่วมมือกันแบบนี้ ผู้ประกอบการต้องไม่อนุญาตให้คนที่ไม่เข้าข่ายดังกล่าวเข้ามาอยู่ในร้านเพื่อให้ปลอดภัย และคนที่ไปใช้บริการก็ต้องปฏิบัติตามด้วย มิเช่นนั้นอาจมีการแพร่เชื้อ ถ้าแพร่เชื้อก็ต้องปิด อาจจะล็อกดาวน์หากเกิดการระบาดใหญ่ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ใด เพราะฉะนั้น การป้องกันตนเอง การตรวจ ATK เป็นระยะ และความร่วมมือเมื่อรวมกลุ่มจะเป็นทางรอดให้พวกเรา จากทางแยกของสถานการณ์ไม่ให้มีการติดเชื้อพุ่งขึ้นไป แต่จะลดลงมา เมื่อมีวัคซีนเพียงพอเราจะปลอดภัย รัฐบาลตั้งเป้าหมายเปิดประเทศ พ.ย. - ธ.ค. ต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้เพื่อความปลอดภัยสูงสุด" นพ.เกียรติภูมิกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง