รีเซต

'ธีรัจชัย' ชี้ ก.อ.ลงโทษวินัยร้ายแรง 'เนตร' สมควรกระทำ ยังติดใจถ้อยคำในหนังสือ หวั่นกลัวไม่ถึงขั้นไล่ออก

'ธีรัจชัย' ชี้ ก.อ.ลงโทษวินัยร้ายแรง 'เนตร' สมควรกระทำ ยังติดใจถ้อยคำในหนังสือ หวั่นกลัวไม่ถึงขั้นไล่ออก
มติชน
22 กันยายน 2564 ( 14:02 )
37
'ธีรัจชัย' ชี้ ก.อ.ลงโทษวินัยร้ายแรง 'เนตร' สมควรกระทำ ยังติดใจถ้อยคำในหนังสือ หวั่นกลัวไม่ถึงขั้นไล่ออก

‘ธีรัจชัย’ ชี้กรณี ก.อ.มีมติลงโทษวินัยร้ายแรง ‘เนตร นาคสุข’ รอง อสส. หลังสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’ เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ระบุติดใจถ้อยคำในหนังสือ หวั่นกลัวไม่ถึงขั้นไล่ออก ตบตาประชาชน พร้อมจ่อเชิญคณะกรรมการฯแจงต่อ กมธ.ป.ป.ช.เพื่อความโปร่งใส สร้างบรรทัดฐานต่อกระบวนการยุติธรรม

 

 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ หรือ ก.อ. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด ที่ขาดความรอบคอบ ประมาทเลินเล่ออย่างค่อนข้างร้ายแรง ซึ่งจะต้องตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงต่อไป โดยวินัยร้ายแรงมีโทษทางข้าราชการ โทษสูงสุดคือการไล่ออก หากผู้เสียหายไม่พอใจ ไม่เห็นด้วย สามารถฟ้องต่อศาลปกครองได้

 

 

นายธีรัจชัยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่สมควรกระทำ โดยส่วนตัวยังติดใจถ้อยแถลงในถ้อยคำที่ว่า “อย่างค่อนข้างร้ายแรง” ตรงนี้อาจจะเป็นถ้อยคำที่เบาไปหรือไม่ ซึ่งในการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงโทษสูงสุดคือการไล่ออก และที่ผ่านมานายเนตร นาคสุข ได้เคยยื่นหนังสือเพื่อขอลาออกจากราชการมาแล้ว 1 ครั้ง และครั้งนี้ก็ได้ยื่นเข้ามาใหม่อีก 1 ครั้ง รวมเป็น 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัตินั้น ส่วนตัวต้องฝากไปยังอัยการสูงสุดช่วยพิจารณาหนังสือลาออกของนายเนตรอย่างถ่องแท้ โดยการจะอนุญาตให้ลาออกก่อนการพิจารณาสอบวินัยร้ายแรงนั้นสมควรหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนรู้สึกถึงไม่สบายใจถึงความเชื่อมั่นของสำนักงานอัยการสูงสุดในความเที่ยงธรรมตรงไปตรงมาหรือไม่

 

 

“หากหนังสือลาออกของนายเนตรเป็นผล ส่วนตัวมองว่าการการสอบคนที่ลาออกความชอบธรรมจะลดลง โดยมองว่าการสอบต้องการไปให้สุดทาง ซึ่งผมไม่มีหน้าที่ในการชี้ผิด ชี้ถูก แต่ต้องการสอบให้สุดทาง กรณีดังกล่าวเป็นที่สะเทือนใจต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นองค์กรต้นเรื่องในการดูแลบุคลากรและฝ่ายบุคคลของสำนักงานอัยการสูงสุด มุมแรกคือต้องเน้นเรื่องการสอบวินัย และอีกหนึ่งมุมคือการดำเนินคดีอาญาในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการแสดงความเห็นเพื่อดำเนินคดีทางอาญาหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้ยังไม่เห็นมีการพูดถึงจากสำนักงานเอกการสูงสุดเลย” นายธีรัจชัยกล่าว

 

 

 

นายธีรัจชัยกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยชุดของนายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ ได้มีความเห็นว่านายเนตรผิดวินัยไม่ร้ายแรง ในวันนั้นตนรู้สึกไม่สบายใจ แต่พอวันนี้เปลี่ยนเป็นการสอบวินัยร้ายแรงก็ถือเป็นมาตรฐานที่สูงขึ้น แต่ในเรื่องของคดีอาญาได้ดำเนินการแล้วหรือไม่ และกรณีของอดีตอัยการสูงสุดที่ได้ลาออกจากราชการในขณะการสอบสวนนายเนตรก่อนหน้านี้ จำเป็นที่จะต้องตรวจสอบความเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ว่าเหตุใดจึงปล่อยให้ลาออกในช่วงเวลานั้น จึงเป็นข้อกังขาที่ตนจำเป็นจะต้องตั้งประเด็นไว้ ว่าคณะกรรมการได้ทำอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่

 

 

“คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช.ได้ตั้งเรื่องรอไว้ขณะนี้เพื่อรอผลการพิจารณาต่างๆ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเชิญฝ่ายอัยการสูงสุด ในส่วนประธานกรรมการอัยการ และคณะกรรมการสอบสวนวินัย เข้าชี้แจงเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงว่าที่ผ่านมาท่านได้กระทำอย่างไรต่อกรณีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความตรงไปตรงมา ผิดเป็นผิด ถูกเป็นถูกจริงๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำจริงๆ” นายธีรัจชัย กล่าว

 

 

นายธีรัจชัยกล่าวว่า กรณีการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถ จากเดิมที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด มาเป็นต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ที่มีหลายฝ่ายมองว่าจะช่วยให้หลุดจากความผิดทั้งยวง และต่อมาทางกรรมาธิการ ป.ป.ช.ได้ติดตามมาโดยตลอดมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนในส่วนของตำรวจมาแล้ว ทางอัยการก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าอัยการท่านใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงความเร็ว ท่านควรที่จะเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบว่าเป็นบุคคลใดเรื่องทางสำนักงานอัยการสูงสุดควรที่จะเปิดเผยและทำให้โปร่งใสได้แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง