กองทุนแนะพอร์ตติดลบ หุ้นเทคไปต่อหรือขายทิ้ง
MFC ปลอบนักลงทุนปรับพอร์ตไม่ทันช่วงหุ้นดิ่ง หากถือของดีพื้นฐานแกร่ง แนะถัวต่อเก็บของดีราคาถูก โดยใช้กลยุทธ์แบ่งเข้าหลายไม้ และไม่ต้องรีบเข้าทุกครั้งที่ปรับตัวลง ส่วนKTAMแนะถือต่อ โดยเฉพาะหุ้น Growth Stock กลุ่มเทคที่มีโอกาสฟื้นหลังเงินเฟ้อลง
นายเชาวน์กร โชติบัณฑ์ Head of Investment strategy บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC แนะนำกับนักลงทุนที่ปรับพอร์ตไม่ทันในช่วงที่ตลาดหุ้นดิ่งลงหนักว่า ให้ดูหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ในพอร์ตเป็นแบบไหน เช่น ถือหุ้นพื้นฐานดี ฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีความสามารถในการแข่งขันสูง แต่การที่ตลาดปรับตัวลงแรงอาจกระทบต่อราคาหุ้นคุณภาพได้เช่นกัน แต่ในระยะถัดไปที่ตลาดหายตกใจ (Panic) ราคาจะกลับมาได้ด้วยพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง
“ดังนั้นถ้าพอร์ตเป็น หุ้น หรือสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ ในจังหวะที่ปรับพอร์ตไม่ทัน อาจหาจังหวะถัวได้ แต่อย่ารีบร้อนในการใส่เงิน เพราะในสถานการณ์ที่ตลาดยังกังวลกับเงินเฟ้อ การปรับขึ้นดอกเบี้ย การถดถอยทางเศรษฐกิจนั้นทำให้ไม่สามารถประเมินได้ว่า ตรงไหนที่เป็นจุดต่ำสุด หรือจุด Bottom ซึ่งผู้ลงทุนควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อหาจังหวะถัว ด้วยการแบ่งเป็นหลายไม้ เพื่อไม่พลาดโอกาสลงทุน และได้ของดีราคาถูก”
หุ้นพื้นฐานช่วยได้
นายเชาวน์กร กล่าวอีกว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ย กระทบต่อหุ้นเติบโต (Growth Stock) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นเทคโนโลยี นักลงทุนหลายรายอาจถือกองทุนหุ้นเทคฯไว้ในพอร์ตและปรับไม่ทัน ซึ่งอย่างที่กล่าวในเบื้องต้นว่าเป็นหุ้นเทคโนโลยีพื้นฐานดี ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่มีแบรนด์เป็นที่รู้จัก มีความสามารถทางการแข่งขัน แม้จะมีคู่แข่งในตลาดมาก แต่ก็ยังเป็นแบรนด์ที่ผู้คนทั่วโลกใช้ ดังนั้นในอนาคตก็ยังคงเป็นบริษัทที่มีโอกาสเติบโตต่อได้ ซึ่งการที่ปรับฐานลงก็อาจเป็นโอกาสลงทุนได้
“ในขณะที่หุ้นเทคฯ บางตัวแม้จะเป็นมีแผนงานที่น่าสนใจ แต่ยังไม่ทำรายได้ ยังไม่เห็นกำไร ขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาด หรือเอ่ยชื่อมาแล้วไม่เป็นที่รู้จักไม่รู้ว่าทำอะไร ซึ่งช่วงที่ตลาดยังคงผันผวน แนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย ควรหาจังหวะขายออก ในช่วงที่ตลาดมีการปรับตัวขึ้น เพราะเชื่อว่าตลาดหุ้น โดยเฉพาะในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (DM) ที่ปรับตัวลงแรงกว่า 20% จะมีโอกาสรีบาวด์”
สายซิ่งขึ้นแรงลงก็แรง
นายเชาวน์กร มองว่า หุ้นเทคฯ แบบนี้เป็นหุ้นซิ่ง เป็นพวกเติบโตสูงมาก (Hyper Growth) เวลาที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น กลุ่มนี้บางทีจะบวกไปถึง 100% แต่เวลาขาลงก็ลงได้สุดๆ 80-90% ก็มี ซึ่งต้องถามตัวเองว่า ถ้าพอร์ตมีหุ้นหรือกองทุนที่ลงหุ้นลักษณะนี้ในสัดส่วนที่มาก และหากต้องถือไปอีก 3 เดือน 6 เดือน ที่ไม่รู้ว่าราคาจะลงไปอีกไหม แนะนำว่าหากไม่สบายใจให้หาโอกาสขายออกในจังหวะที่หุ้นรีบาวด์ก็ปรับลดสัดส่วนลง
นายเชาวน์กร ยังบอกว่าอีก ไม่ได้บอกว่าเสี่ยงสูงลงทุนไม่ได้ เพราะความเสี่ยงที่สูงก็แลกมาด้วยผลตอบแทนที่สูงเช่นกัน แต่ถ้าในพอร์ตมีหุ้น หรือกองทุนที่เสี่ยงสูงมากเกินไป เวลาพลาดมีโอกาสที่จะเจ็บหนัก กระทบต่อจิตใจจนนอนไม่หลับได้ แต่ถ้าลงในสัดส่วนน้อย เวลาพลาดก็ยังไม่กังวลจนนอนไม่หลับ เพราะถือหุ้น หรือ สินทรัพย์ที่มีพื้นฐานรองรับ
แต่ถ้านักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้อยากลุ้นไปกับผลตอบแทนสูงๆ นายเชาวน์กร มองว่าควรถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงไว้ราว 10% ก็น่าจะพอ เช่น พอร์ตในส่วนของสินทรัพย์หุ้น อาจถือกลุ่ม Hyper Growth ได้ในสัดส่วน 10% ของพอร์ตส่วนนี้ แต่ถ้ากล้าได้กล้าเสียก็อาจเพิ่มเป็น 20-30% ของพอร์ตได้ ส่วนนักลงทุนที่เน้นเติบโตไปเรื่อย ๆ ก็อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนในกลุ่ม Hyper Growthก็ได้
แนะนำถือต่อ
ทางด้าน นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM แนะนำว่าสำหรับนักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนต่างประเทศและยังมีการถือครองอยู่นั้น ควรจะทำการถือครองต่อไป เนื่องจากตลาดมีการปรับตัวลดลงมากจนทำให้ราคาสินทรัพย์ไม่แพง เช่น กองทุนเทคฯ นั้นน่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้หลังจากเงินเฟ้อมีการปรับตัวลงทำให้ทางการสามารถใช้มาตรการผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการทางเศรษฐกิจในรอบใหม่
ทั้งนี้ ในระยะสั้น 3-6 เดือนข้างหน้าตลาดยังคงมีความผันผวนจากการที่ทางการสหรัฐฯ ยังไม่สามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาให้ผลของมาตรการการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแสดงผลออกมา
สำหรับ ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนรวม (30 กันยายน 2565) โดย มอร์นิ่งสตาร์ (Morningstar) ชี้ว่า กองทุนในกลุ่ม Global Technologyผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี ติดลบ 40.5% และ 3 เดือนย้อนหลัวง ผลตอบแทนติดลบ 7.6% ขณะที่นย้อนหลังไป 3ปี และ 5 ปี ผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ที่ 2.4%