รีเซต

'กรมประมง' ดันซื้อ-ขายออนไลน์หวังเพิ่มช่องทางเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สู้โควิด

'กรมประมง' ดันซื้อ-ขายออนไลน์หวังเพิ่มช่องทางเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สู้โควิด
มติชน
8 เมษายน 2563 ( 04:01 )
43
'กรมประมง' ดันซื้อ-ขายออนไลน์หวังเพิ่มช่องทางเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร สู้โควิด

นายถาวร จิระโสภณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจประมงเป็นอย่างมาก เนื่องจากการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงไปยังต่างประเทศหยุดชะงัก และคาดว่าภายใน 3 เดือนข้างหน้าจะมีกุ้งค้างอยู่ในระบบกว่า 15,000 ตัน ผลมาจากความไม่มั่นใจเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงการจำหน่ายสินค้าประมงภายในประเทศก็ลดลงอย่างฉับพลันจากมาตรการการควบคุมโรคของรัฐบาล ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเดือดร้อน เพราะไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ตามปกติ

 

 

ทั้งนี้ กรมประมงตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้สนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำผ่านระบบออนไลน์ เพื่อกระจายผลผลิตและชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ กรมประมงยังได้เปิดระบบการสั่งจองสินค้าสัตว์น้ำออนไลน์ (พรีออเดอร์​) ภายใต้ชื่อ ฟิชริช ชอป (Fisheries Shop)​ ขึ้นอีกด้วย เพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ จากเกษตรกรไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจทั้งในเรื่องคุณภาพและราคาของสินค้าด้วย ขณะนี้ กรมประมงได้มีการเปิดระบบฯ ดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสามารถสมัครเข้าใช้งานได้ด้วยตนเองแล้ว โดยมีเงื่อนไข คือ จะต้องเป็นเกษตรกร หรือ กลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบ1) และเป็นฟาร์มเลี้ยงที่ได้การรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (จีเอพี) จากกรมประมง หรือหน่วยงานอื่นที่อยู่ภายใต้การรับรองของกรมประมงเท่านั้น ซึ่งล่าสุดมีเกษตรกรเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำออนไลน์ อาทิ กุ้งทะเล ปลากะพงขาว และปลาช่อน ผ่านฟิชริช ชอป แล้วกว่า 10 ราย

 

 

“กรมประมงเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้ จะมีเกษตรกรที่สนใจทยอยสมัครเข้าใช้งานระบบเพื่อขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการนำร่องทดลองระบบฯ เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกุ้งทะเลและปลากะพงขาว จากฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐานจีเอพี ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีลูกค้าสนใจสั่งจองสินค้าจำนวนมาก และคาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 1 เดือนนับจากนี้ จะมีเกษตรกรจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สนใจสมัครเข้าร่วมจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำผ่านระบบฯ ไม่น้อยกว่า 70-80 ราย” นายถาวร กล่าว

 

 

สำหรับ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สนใจ สามารถแจ้งความประสงค์ เพื่อสมัครเข้าใช้งานระบบการสั่งจองสินค้าสัตว์น้ำออนไลน์ Fisheries Shop ได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หรือ ติดต่อสอบถามที่กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง โทร.0-2579-4496

ข่าวที่เกี่ยวข้อง