รีเซต

"พายุหลงทิศ" ส่งมรสุมแรงเข้าไทย เตรียมตัวรับมือฝนตกหนัก จริงหรือไม่?

"พายุหลงทิศ" ส่งมรสุมแรงเข้าไทย เตรียมตัวรับมือฝนตกหนัก จริงหรือไม่?
TNN ช่อง16
26 กุมภาพันธ์ 2566 ( 10:32 )
83

ตามที่มีข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องพายุหลงทิศส่งมรสุมแรงเข้าไทย เตรียมตัวรับมือฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และน้ำหลาก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ


จากที่มีผู้แชร์ข้อมูลทางโลกออนไลน์ว่า พายุหลงทิศส่งมรสุมแรงเข้าไทย เตรียมตัวรับมือฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และน้ำหลาก ทางกรมอุตุนิยมวิทยากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 21 – 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ไม่พบว่าจะมีพายุพามรสุมเข้าไทยแต่อย่างใด มีเพียงพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่ง


โดยในช่วงวันที่ 22 – 24 ก.พ. 66 ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร สำหรับในช่วงวันที่ 25 – 27 ก.พ. 66 ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลง 2 – 5 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร


ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าได้แชร์หรือส่งต่อข่าวลือนี้ และติดตามข่าว พยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา เท่านั้น เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกขึ้นในสังคม และหากมีสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพื่อเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weatherสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)


บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง จากพยากรณ์อากาศพบว่ามีเพียงพายุฝนฟ้าคะนองบางแห่งเท่านั้น โปรดอย่าหลงเชื่อข้อมูลเท็จดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง