รีเซต

โฆษกศบค.ยกเคส เกาหลี-จีน-ญี่ปุ่น ยังเฝ้าระวังโควิด เตือนสติคนร้องผ่อนคลายเคอร์ฟิว

โฆษกศบค.ยกเคส เกาหลี-จีน-ญี่ปุ่น ยังเฝ้าระวังโควิด เตือนสติคนร้องผ่อนคลายเคอร์ฟิว
มติชน
16 เมษายน 2563 ( 14:35 )
131
โฆษกศบค.ยกเคส เกาหลี-จีน-ญี่ปุ่น ยังเฝ้าระวังโควิด เตือนสติคนร้องผ่อนคลายเคอร์ฟิว
 

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 16 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 29 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,672 ราย หายป่วยแล้ว 1,593 ราย รักษาตัวอยู่ 1,077 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมเป็น 46 ราย มีผู้ติดเชื้อกระจายตัวใน 68 จังหวัด กลุ่มคนที่ติดเชื้อมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 20-29 ปี เป็นเพศชายมากกว่าหญิง

 

สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 44 เป็นชายสัญชาติมาเลเซีย อายุ 55 ปี อาชีพไกด์ทัวร์ ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีประวัติเสี่ยง เพราะไปเป็นไกด์ที่ประเทศจอร์เจียเมื่อวันที่ 13-19 มีนาคม ซึ่งพบว่ามีลูกทัวร์ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาไทยในวันที่ 19 มีนาคม มีอาการป่วยในวันที่ 21 มีนาคม เข้ารับการรับการรักาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่กทม.เมื่อวันที่ 29 มีนาคม มีอาการไอ เหนื่อย และออกซิเจนในเลือดต่ำ ผลเอ็กซ์เรย์ปอดพบว่าปอดอักเสบ เมื่อส่งตรวจเชื้อพบว่าเป็นโควิด-19 หลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์อาการแย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียชีวิตวันที่ 14 เมษายน รายที่ 45 เป็นหญิงไทย อายุ 35 ปี เป็นพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัว คือเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีอาการป่วยวันที่ 20 มีนาคม ด้วยอาการไอ เหนื่อย และรับการรักษาครั้งแรกที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง รับยากลับไปกินที่บ้าน แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงกลับมารักษาอีกครั้งวันที่ 26 มีนาคม ที่โรงพยาบาล

 

ต่อมาพบว่าเป็นปอดอักเสบรุนแรงและติดเชื้อในกระแสเลือด วันที่ 27 มีนาคม พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างการรักษามีอาการเหนื่อยมากขึ้น แพทย์ได้ใส่ท่อช่วยหายใจ แต่อาการก็แย่ลงเรื่อยๆ ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 เมษายน และรายที่ 46 เป็นชายไทย อายุ 37 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป ขับรถแบ็กโฮ มีโรคประจำตัว คือ ความดันโลหิตสูง และภาวะอ้วน ประวัติเสี่ยง คือ ภรรยาทำงานเป็นพนักงานร้านอาหารย่านสุขุมวิท หลังจากปิดร้านก็เดินทางกลับมาที่ จ.ปราจีนบุรีในวันที่ 18 มีนาคม ต่อมันวันที่ 22 มีนาคม ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง และทอนซิลอักเสบ เข้ารับการรักษาที่คลินิก 4-5 ครั้ง ก่อนจะเข้ารับการรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดปราจีนบุรี มีอาการไข้สูง และหน้ามืด ส่งตรวจหาเชื้อพบว่าเป็นโควิด-19 อาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตในวันที่ 15 เมษายน ทั้ง 3 ราย อายุต่ำว่า 60 ปี เป็นทั้งเพศหญิงเพศชาย เป็นคนไทยและต่างชาติ ทั้งนี้ผู้ติอเชื้อรายใหม่เป็นผู้ที่ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมทั้งสิ้น

 

ดังนั้นหากท่านดูแลตัวเองอย่างดีจะไม่มีคนเสียชีวิตในอีก 14-15 วันข้างหน้า ผลของวันนี้ที่ดีเป็นเพราะการประกาศเคอร์ฟิวเมื่อวันที่ 3 เมษายน จนถึงวันนี้รวม 14 วัน พรุ่งนี้ก็อาจจะยังดีอยู่แต่อีก 14 วันข้างหน้า อาจจะมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้ เรายังกังวลในส่วนนี้อยู่ จึงไม่อยากให้ผ่อนปรนเร็วเกินไปนัก

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การหาความเชื่อมโยงสำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 29 ราย แบ่งเป็น 1.ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 29 ราย 1.1ผู้ป่วยที่มีประวัติกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 14 ราย 1.2ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 5 ราย แบ่งเป็น คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 2 ราย ไปสถานที่ชุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสชาวต่างชาติ 2 ราย และ 1.3อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 10 ราย

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถิติจังหวัดที่รับรักษาผู้ป่วยยืนยันสะสมทั่วประเทศจำนวน 2,672 คนใน 68 จังหวัด พบผู้ป่วยในกทม. 1,349 ราย ภูเก็ต 191 ราย นนทบุรี 148 ราย สมุทรปราการ 108 ราย ยะลา 96 ราย ปัตตานี 86 ราย ชลบุรี 81 ราย สงขลา 56 ราย เชียงใหม่ 40 ราย ปทุมธานี 33 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวน 70 ราย สำหรับ 9 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานการรักษาผู้ป่วยประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และอ่างทอง ส่วนอัตราป่วยติดเชื้อต่อประชากรแสนคน จำแนกตามจังหวัดที่รับรักษา จากจำนวน 2,672 คน ใน 68 จังหวัด พบว่า อันดับหนึ่งคือ ภูเก็ต อัตราป่วยต่อประชาชกรแสนคนอยู่ที่ 46.20 ตามมาด้วย กทม. 23.79 ยะลา 17.97 ปัตตานี 11.92 นนทบุรี 11.78 สมุทรปราการ 8.09 สตูล 5.58 ชลบุรี 5.24 สงขลา 3.90 และนราธิวาส 3.73

 

ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 14 วัน (2-15 เมษายน) ประกอบด้วย 25 จังหวัด คือ เชียงราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี จันทบุรี นครนายก บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สมุทรสงคราม สระบุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

 

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โลกพบว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรวม 2,083,304 คน รักษาหายแล้ว 509,997 และมีผู้เสียชีวิตรวม 134,616 คน โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อสะสมสูงสุดจำนวน 644,089 คน สเปน 180,659 คน อิตาลี 165,155 คน และฝรั่งเศส 147,863 คน ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 50

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ต้องกล่าวย่อยๆ เพราะต้องการจะตอบคำถามว่า เราจะผ่อนปรนเคอร์ฟิวนี้อย่างไร จึงต้องมาดูกรณีศึกษาของแต่ละประเทศ โดยเกาหลีใต้ใช้นโยบายหลักในการป้องกันและควบคุมโควิด-19 4 ข้อคือ 1.การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสของข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2. การกักกันเชื้อ (Containment) และการชะลอการแพร่ระบาด (Mitigation) 3.ระบบการตรวจโรคและการรักษา และ4.การตรวจคัดกรองอย่างกว้างขวาง (Massive Screening) และระบบการจัดการติดตามผู้ป่วยต้องสงสัย (Fast Tracking of Suspect Cases)

 

ซึ่งมีการรวบรวมประวัติและข้อมูลการติดเชื้อ และระบบแจ้งเตือนผ่าน SMS หากพบว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงจะมีการแจ้งเตือน เป็นการเปิดเผยข้อมูลของประชาชนพอสมควร แต่สำหรับไทย เรื่องสิทธิส่วนบุคคลยังเป็นเรื่องสำคัญสูงยิ่ง จึงยังต้องพิจารณากันต่อไป นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังให้ประชาชนเข้าโบสถ์ทางออนไลน์เพื่อลดการติดเชื้อ ซึ่งน่าจะเป็นข้อคิดของเราในเรื่องการจัดพิธีกรรมทางศาสนาของเราด้วย

 

กรณีศึกษาของจีนมีการจัดการการแพร่ระบาดดีจนตัวเลขลดลงมา แต่ก็มีข่าวเปิดเผยว่าอาจจะมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการซ่อนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก เพราะมีการเข้าไปเช็กผลตรวจของผู้ต้องสงสัยติดเชื้อจำนวน 6,764 คน พบว่า มีเพียง 1,297 คนเท่านั้นที่แสดงอาการป่วย (19.1%) ซึ่งคนที่ไม่แสดงอาการจะเป็นพาหะนำโรค นี่คือสิ่งที่ท้าทายการควบคุมสถานการณ์ จึงเกิดความกังวลว่า การแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและรวดเร็วกว่าที่คิด เมื่อลงลึกไปอีกพบว่า คนที่ติดเชื้อไวรัสจะมีอาการไอแห้งๆ แต่เมื่อไม่นานมานี้พบอีกว่า จะมีอาการสูญเสียการได้กลิ่น และการรับรส หากมีอาการแบบนี้ต่อเนื่องก็ตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะคิดเชื้อได้

 

ส่วนกรณีศึกษาของญี่ปุ่น ปัจจุบันสถานการณ์ทรุดหนัก ทางรัฐบาลออกมาแจ้งว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านา มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 457 ราย นอกจากนี้ยังเตือนว่าหากประชาชนไม่ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัดอาจจะมีผู้ติดเชื้อถึง 8.5 แสนคน และอาจจะเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าว ทางการจึงต้องจำเป็นประกาสภาวะฉุกเฉินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่การที่ญี่ปุ่นยังให้บริษัทต่างๆ เปิดทำการ จนมีประชาชนที่ทำงานยังต้องใช้บริการโดยสารสาธารณะ ที่มีความแออัดอยู่ อาจจะเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อสูงขึ้น

 

“ถ้าเราเรียนรู้อย่างนี้ สิ่งที่ท่านเรียกร้องอยากจะผ่อนคลาย ก็อยากให้ดูในประเทศที่ทำมาก่อนว่าผลออกมาเป็นอย่างไร ท่านจะเลือกอย่างไร นี่คือสิ่งที่ทิ้งท้ายไว้เพื่อให้พิจารณาของท่านเอง และในจังหวัดของท่านก็จะเห็นภาพต่างๆ ออกมาไม่เท่ากัน ฉะนั้นเข้มจะต้องเกิดที่ไหน ผ่อนคลายจะต้องเกิดที่ไหน อันนี้เขาบอกว่า ก็เพิ่งจะมาเห็นประเทศไทยมีการกระจายอำนาจอย่างชัดเจน ก็คือ ช่วงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ทำให้แต่ละจังหวัด สามารถจัดการกับเรื่องของตัวเองได้ โดยใช้ข้อมูลที่เรามีกันอยู่” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง