รีเซต

ศปถ.สรุปอุบัติเหตุทางถนน 7 วันอันตราย สงกรานต์ 64 รวมกว่า 2.3 พันครั้ง สาเหตุหลักขับรถเร็ว-ดื่มแล้วขับ

ศปถ.สรุปอุบัติเหตุทางถนน 7 วันอันตราย สงกรานต์ 64 รวมกว่า 2.3 พันครั้ง สาเหตุหลักขับรถเร็ว-ดื่มแล้วขับ
มติชน
17 เมษายน 2564 ( 12:02 )
44
ศปถ.สรุปอุบัติเหตุทางถนน 7 วันอันตราย สงกรานต์ 64 รวมกว่า 2.3 พันครั้ง สาเหตุหลักขับรถเร็ว-ดื่มแล้วขับ

ศปถ.สรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 ประสานจังหวัดถอดบทเรียน-เพิ่มประสิทธิภาพสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างรอบด้าน

 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 17 เมษายน ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (10-16 เม.ย. 64) เกิดอุบัติเหตุ รวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิต รวม 277 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,357 คน

 

จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 5 จังหวัด ประสานจังหวัดตรวจสอบข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน และข้อมูลบูรณาการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐานให้มีความถูกต้องบนฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อนำมาวิเคราะห์และถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก

 

รวมถึงค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในมิติเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับทุกปัจจัยเสี่ยง และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คนต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ.2570

 

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2564 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ 7 ของการรณรงค์ “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด” เกิดอุบัติเหตุ 253 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้บาดเจ็บ 255 คน

 

นายอรรษิษฐ์กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.18 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 22.13 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.27 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 58.10 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.13 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.15 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 33.20 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 17.79

 

นายอรรษิษฐ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,908 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 59,389 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 316,725 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 65,549 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 15,631 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 15,201 ราย

 

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุบลราชธานี (3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (14 คน)

 

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (10-16 เม.ย. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 277 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,357 คน

 

จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 5 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (106 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ปทุมธานี (10 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (109 คน)

 

ท้ายนี้ ศปถ.ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน เครือข่ายอาสาสมัคร กลุ่มจิตอาสา และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทาง ด้วยความทุ่มเท เสียสละ อดทน และเข้มแข็ง

 

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ปภ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 พบว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากดื่มแล้วขับและขับรถเร็ว รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดซึ่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยกำชับจังหวัดตรวจสอบข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนและข้อมูลบูรณาการผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
พ.ศ.2564 ให้มีความถูกต้องบนฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อนำมาวิเคราะห์และถอดบทเรียนการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก

 

นายบุญธรรมกล่าวว่า รวมถึงค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในมิติเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับทุกปัจจัยเสี่ยง ทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม สำหรับการดำเนินงานลดอุบัติทางถนนในภาพรวม ศปถ.จะได้รวบรวมข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนไปจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลกำหนดเป็นกรอบแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความปลอดภัยทางถนนของประเทศอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 12 คน ต่อประชากรแสนคนภายในปี พ.ศ.2570

ข่าวที่เกี่ยวข้อง