จี้เอาผิดผู้นำทัพพม่า ขึ้นศาลอาญาโลก อินโดฯดันอาเซียนถกด่วน
จี้เอาผิดผู้นำทัพพม่า - วันที่ 19 มี.ค. รอยเตอร์ รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา ยอดผู้เสียชีวิตที่ถูกฝ่ายความมั่นคงเมียนมาใช้กำลังเข้าปราบปรามตั้งแต่รัฐประหารเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 232 ราย
นายจ่อ โม ตุน ผู้แทนถาวรเมียนมาประจำองค์การสหประชาชาติ ที่ถูกรัฐบาลทหารปลดออกจากตำแหน่งหลังชู 3 นิ้ว ประกาศท่าทีต่อต้านการรัฐประหารกลางที่ประชุมยูเอ็นในนครนิวยอร์กว่า ทางเลือกหนึ่งคือการขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี
"เราไม่ได้เป็นภาคีไอซีซีแต่เราต้องหาทางและวิธีการนำคดีขึ้นสู่ศาลไอซีซี" นายจ่อ โม ตุน หลังประชุมร่วมกับคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ คณะทำงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐบาลนางออง ซาน ซู จี ที่ถูกยึดอำนาจ
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นหนทางเดียวกับที่ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของยูเอ็นเสนอให้ลงโทษผู้สั่งการสังหารประชาชน
วันเดียวกัน ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย แถลงเรียกร้องให้การใช้ความรุนแรงในเมียนมายุติทันที ว่า "เพื่อไม่ให้ความสูญเสียมากไปกว่านี้ ในนามรัฐบาลและชาวอินโดนีเซีย ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต"
ผู้นำอินโดนีเซียยืนยันด้วยว่าจะติดต่อสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดีน วัดเดาละห์ แห่งบรูไน ในฐานะประธานอาเซียนประจำปีนี้ ให้พระองค์ทรงจัดการประชุมระดับผู้นำอาเซียนเป็นวาระฉุกเฉิน เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตในเมียนมา
ต่อมา นายมูฮิดดิน ยาสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แถลงขานรับสนับสนุนรัฐบาลอินโดนีเซียทันที ว่าควรต้องเปิดการประชุมด่วนในหมู่ชาติสมาชิกอาเซียน และแถลงเตือนไปยังคณะรัฐประหารเมียนมา ด้วยว่า การใช้อาวุธร้ายแรงต่อประชาชนมือเปล่านั้นเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
สำหรับสถานการณ์วันที่ 19 มี.ค. กองกำลังความมั่นคงเมียนมายิงสังหารประชาชนผู้ประท้วงเสียชีวิตอีก 9 ราย ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในนครย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ มยินจาน กะตะ เมียวดี และอองบัน
มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงฉีดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมก่อนเปิดฉากยิงฝูงชนขณะพยายามนำสิ่งกีดขวางที่ผู้ประท้วงนำมากั้นบนท้องถนน
ผู้เสียชีวิตล่าสุดมาจากเมืองอองบัน 8 ราย เสียชีวิตคาที่ 7 ราย อีก 1 รายเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเมืองกะลอที่อยู่ใกล้เคียง ส่วนอีก 1 ราย ถูกยิง 1 ในเมืองลอยกอ นอกจากนี้ มีการเปิดฉากยิงในนครย่างกุ้ง