รีเซต

ธปท.เผย Q2/66 เสถียรภาพการเงินดี เกาะติดหนี้ครัวเรือน-การออกตราสารหนี้

ธปท.เผย Q2/66 เสถียรภาพการเงินดี เกาะติดหนี้ครัวเรือน-การออกตราสารหนี้
ทันหุ้น
27 กรกฎาคม 2566 ( 16:16 )
45

ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานผลการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินและความเสี่ยงในระยะข้างหน้าประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2566

 

Key Takeaway : ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้และฐานะการเงินโดยรวมของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่

 

ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และ SMEs ที่อาจได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อบางกลุ่มมีแนวโน้มด้อยลงบ้าง แต่สถาบันการเงิน (สง.) ยังคงสามารถบริหารจัดการ หรือดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้ และจะไม่นำไปสู่หนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด (NPL cliff)

 

ความสามารถในการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตลาดตราสารหนี้ จากความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ระดมทุนบางรายที่อาจสูงขึ้น โดยที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ที่มีมูลค่าสูงกว่าปีก่อนและการเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทที่ถูกปรับลด credit rating and outlook จึงต้องติดตามความสามารถในการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตลาดตราสารหนี้ในระยะต่อไป

ภาพรวมเสถียรภาพระบบการเงินไทย สถานะความเสี่ยง ณ ปัจจุบัน

ภาคครัวเรือน แม้ว่ารายได้โดยรวมจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มเปราะบางหลังเริ่มเห็นสัญญาณการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ซึ้งเป็นลูกหนี้ SFIs และ non-bank ที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

 

ภาคธุรกิจ ธุรกิจขนาดใหญ่มีความสามารถในการชำระหนี้และทำกำไรปรับดีขึ้นเล็กน้อย จากการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะภาคการผลิต เช่น กลุ่มเหล็ก ปิโตรเคมี ที่อาจได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ปรับลดลง รวมถึงความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และภาคก่อสร้างที่ต้องติดตามนโยบายของภาครัฐ

 

SMEs ฐานะการเงินยังเปราะบางจากผลกระทบที่ได้รับช่วง COVID-19และอาจเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะภาคการผลิต เช่น กลุ่มปิโตรเคมี เหล็ก ขนส่งสิค้า ที่อาจได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ปรับลดลง และยังต้องติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

 

ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการอยู่อาศัย : ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวต่อเนื่องตามพัฒาการทางเศรษฐกิจ อุปสงค์มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยจำนวนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นจากที่ชะลอตัวในไตรมาสที่ 1 และมีการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น ตามรูปแบบการใช้ชีวิตที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

เพื่อการพาณิชย์ : อัตราการเช่าพื้นที่ค้าปลีกปรับดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราการเช่าพื้นที่สำนักงานทยอยปรับลดลงตามอุปทานที่สูงขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง

 

ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) / ผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (non-bank) ระบบ ธพ. ยังสามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ผลประกอบการกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อน COVID-19โดยระดับเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องยังเข้มแข็ง

 

ฐานะของ non-bank ขนาดใหญ่ในตลาดหลักรัพย์ยังอยู่ในกณฑ์ดี แต่ความสามารถในการทำกำไรบางรายมีแนวโน้มลดลงจากคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงและการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น โดยต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตที่เห็นสัญญาน NPL ปรับเพิ่มขึ้น

 

สหกรณ์ออมทรัพย์ (สอ.) สอ. โดยรวมยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการดำเนินกิจการ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตาม สอ. บางแห่งที่สะสมความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง

 

ตลาดการเงิน ตลาดทุนมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ตลาดตราสารหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบางบริษัทในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งส่งผลกระทบเชิง sentiment ของนักลงทุนบางกลุ่ม จึงต้องติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินไทยอย่างใกล้ชิด

 

ด้านต่างประเทศ ยังคงเข้มแข็งจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเพียงพอสำหรับการชำระนี้ต่งประเทศระยะสั้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับดีขึ้นจากดุลบริการตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยยังมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้าจากการส่งออกและปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

ภาค digital asset ความเสี่ยงของ digital asset ต่อระบบการเงินไทยมีแนวโน้มลดลง จากความสนใจของผู้ลงทุนและธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ แนวโน้มความเสี่ยงในระยะข้างหน้าขึ้นกับพฤติกรรมของนักลงทุนรายย่อยในภาวะที่ราคา digital asset ปรับสูงขึ้น

 

รายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยรายไตรมาส Financial Stability Snapshot ของ Q2/66 มีเอกสารฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ ดูรายละเอียดในเว็บไซต์ ธปท. https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/reports/financial-stability-snapshot/financial-stability-snapshot-q2-2023.html

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง