โควิด-19 : หลอกผี-ฟันมือ สิ่งที่ผู้คน-เจ้าหน้าที่ เผชิญช่วงล็อกดาวน์สกัดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ในช่วงนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังใช้มาตรการ "ล็อกดาวน์" ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานเพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะเป็นคำสั่งของทางการ แต่ยังมีประชาชนไม่น้อยที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม ส่งผลให้ในบางประเทศคิดค้นวิธีการป้องกันผู้คนออกนอกบ้านแบบไม่เหมือนใคร
ที่หมู่บ้านเคปูห์ บนเกาะชวาของอินโดนีเซีย มีการใช้อาสาสมัครแต่งกายเป็นผีคอยหลอกหลอนผู้คนที่ไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม แล้วออกไปพบปะกันในยามวิกาล
วิธีนี้ริเริ่มขึ้นจากความร่วมมือระหว่างหัวหน้ากลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านและตำรวจในท้องที่ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้อาสาสมัครที่ปฏิบัติงานลาดตระเวนช่วงกลางคืนแต่งตัวเป็น "ผีปัวจง" หรือ "ผีผ้าห่อศพ" ซึ่งตามตำนานของอินโดนีเซียเล่าว่า เป็นผีที่ดวงวิญญาณยังไม่ไปสู่สุคติ
- เคอร์ฟิว 24 ชม. ในไทยยังเป็นแค่ "ข่าวปลอม" แล้วมีประเทศไหนบ้างที่สั่ง "ปิดบ้าน" สกัดไวรัสโคโรนา
- ยิ่งกักตัวเองอยู่บ้านนานขึ้นเท่าไหร่ ทำไมรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้นเท่านั้น ?
- ชาติไหนบ้างมีมาตรการแปลกรับมือการระบาดของโควิด-19
ทีมงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ลงพื้นที่ดูปฏิบัติการ "หลอกผี" บอกว่า วิธีนี้มักให้ผลในทางตรงกันข้าม เพราะทำให้ชาวบ้านออกมาตามหาอาสาสมัครที่แต่งตัวเป็นผี
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านบอกว่า สถานการณ์ในช่วงนี้เริ่มดีขึ้น นับตั้งแต่ทีมอาสาสมัครปรับเปลี่ยนเทคนิคโดยสุ่มออกมาหลอกผู้คนแบบไม่มีเวลาตายตัว
ชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่า "ตั้งแต่มีผีปัวจงออกมาหลอกหลอน ก็ไม่มีผู้ปกครองและบุตรหลานออกนอกบ้านเลย...และผู้คนก็ไม่ออกไปจับกลุ่มกัน หรืออยู่ตามท้องถนนหลังการละหมาดในช่วงค่ำ"
นายอันจาร์ ปันกา ผู้ดูแลมัสยิดท้องถิ่น เผยกับหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ว่า วิธีนี้ใช้ได้ผล เพราะมันช่วยเตือนใจชาวบ้านถึงอันตรายจากโรคระบาดนี้
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ระบุว่าอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรกว่า 265 ล้านคน มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศอย่างน้อย 4,839 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 459 ราย
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงในอินโดนีเซียจะสูงกว่านี้มาก
จนถึงบัดนี้ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ยังไม่ได้ประกาศใช้มาตรการปิดเมืองทั่วประเทศอินโดนีเซีย แม้จะมีความหวาดวิตกว่าระบบสาธารณสุขของประเทศอาจจะไม่สามารถรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ได้หากไม่มีการใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด
ผู้นำหมู่บ้านเคปูห์ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "ชาวบ้านยังไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงการจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19...พวกเขายังอยากใช้ชีวิตกันตามปกติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้พวกเขาปฏิบัติตามคำสั่งเก็บตัวอยู่ในบ้าน"
นอกจากที่หมู่บ้านเคปูห์แล้ว ในอินเดียก็มีความพยายามรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายของโรคระบาดครั้งนี้
ตำรวจอินเดียใช้วิธีสวมหมวกกันน็อกที่ตกแต่งเป็นรูปคล้ายเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ พร้อมกับใช้มาตรการเข้มงวดในการให้ประชาชนทั่วประเทศเก็บตัวอยู่ในบ้าน ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ไปจนถึงวันที่ 3 พ.ค.นี้ หลังจากนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศขยายกรอบเวลาการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาด
การบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดนี้เอง ส่งผลให้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างตำรวจกับชาวบ้านที่ไม่พอใจการปิดเมืองของทางการ โดยในในรัฐปัญจาบเกิดเหตุตำรวจนายหนึ่งถูกกลุ่มผู้นับถือศาสนาซิกข์นิกายนิฮัง ฟันมือจนขาด หลังจากเข้าไปตักเตือนกลุ่มผู้ก่อเหตุที่ฝ่าฝืนคำสั่งปิดเมือง
เคราะห์ดีที่ในเวลาต่อมา แพทย์สามารถช่วยผ่าตัดต่อมือตำรวจผู้นี้ได้สำเร็จ และมีการจับกุมผู้ก่อเหตุจำนวน 11 คน
นอกจากกรณีดังกล่าวแล้ว มีรายงานว่า ชาวซิกข์กลุ่มนี้ยังถูกกล่าวหาว่าได้ก่อเหตุพยายามฆ่า ทำร้ายร่างกายจนเกิดการบาดเจ็บรุนแรง และทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามเอาผิดพวกเขา
หลังเกิดเหตุผู้นับถือศาสนาซิกข์หลายกลุ่มได้ออกมาประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงกลุ่มชาวซิกข์นิกายนิฮัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีหน้าที่ปกป้องศาสนาซิกข์และผู้นับถือศาสนา โดยมีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะป้องกันตัวและการต่อสู้ด้วยดาบ