โดนัลด์ ทรัมป์ ร่วมชมทดสอบยาน Starship ครั้งที่ 6 ส่งสัญญาณความร่วมมือลึกซึ้งกับอีลอน มัสก์
บริษัทด้านอวกาศ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ทำการทดสอบปล่อยยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ครั้งที่ 6 ซึ่งในการทดสอบครั้งนี้มีว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) มารับชมด้วยที่ฐานติดตั้งจรวด
ทรัมป์โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียว่า “ผมกำลังมุ่งหน้าไปรัฐเท็กซัส เพื่อรับชมการปล่อยวัตถุที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยปล่อยสู่อวกาศ” และยังเขียนอวยพรให้มัสก์โชคดีอีกด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า การที่ทรัมป์เข้าร่วมรับชมการทดสอบด้วย เป็นสัญญาณว่าทรัมป์และมัสก์มีความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และคาดการณ์ว่ามัสก์จะได้รับผลประโยชน์จากการที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี
มัสก์ประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนทรัมป์ตั้งแต่ช่วงหาเสียง และเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ทรัมป์ได้แต่งตั้งมัสก์ให้เป็นผู้นำร่วมในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลใหม่ ซึ่งมัสก์ก็กล่าวว่า โครงการนี้จะทำให้รัฐบาลกลางไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และไม่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เขามองว่าเป็นภาระอีกต่อไป
ทั้งนี้สำหรับมัสก์ เคยบ่นว่าสำนักงานการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ขัดขวางความก้าวหน้าของสเปซเอ็กซ์ในการเดินทางสู่ดาวอังคาร ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการปล่อยจรวดเชิงพาณิชย์ที่เคร่งครัด
การที่ FAA อนุมัติใบอนุญาตสำหรับการปล่อยยานสตาร์ชิปครั้งที่ 6 ซึ่งห่างจากการทดสอบครั้งที่ 5 เพียงเดือนกว่า ๆ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบที่รวดเร็วมาก ขณะที่ FAA กำลังพัฒนากระบวนการอนุมัติการปล่อยยานรูปแบบใหม่ เพื่อให้เท่าทันกับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศของสหรัฐฯ
สำหรับการทดสอบปล่อยยานอวกาศสตาร์ชิป ครั้งที่ 6 มีขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน เวลาประมาณ 05:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย จากบริเวณฐานปล่อยจรวดสตาร์เบส (Starbase) ชายหาดโบคาชิกา (Boca Chica) รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
การทดสอบในครั้งที่ 6 นี้แตกต่างจากการทดสอบครั้งที่ 5 โดยตั้งเป้าให้ยานสตาร์ชิปจุดเครื่องยนต์แรปเตอร์ (Raptor) ในอวกาศ และลงจอดบนผิวน้ำมหาสมุทรอินเดียในเวลากลางวัน นอกจากนี้ยานสตาร์ชิปจะทำมุมชันกว่าปกติเพื่อให้โดนความร้อนขณะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุด และอัปเกรดการทำงานของแขนหุ่นยนต์ตะเกียบให้จะจับจรวดเร็วมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะที่จรวดซูเปอร์ เฮฟวี่ (Super Heavy) พยายามลงจอดบนแขนหุ่นยนต์ตะเกียบ คล้ายกับการทดสอบครั้งที่ 5 แต่ทีมงานได้ตัดสินใจเปลี่ยนแผนการนำจรวดลงจอดบนผิวน้ำในอ่าวเม็กซิโกแทน ส่วนยานสตาร์ชิปได้เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศโลก ไปลงจอดบนผิวน้ำบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ตามที่ได้วางแผนการไว้อย่างสวยงาม
ที่มาข้อมูล Reuters
ที่มารูปภาพ Reuters