รีเซต

นักเศรษฐศาสตร์ เตือน ไทยเสี่ยงเจอภาวะ รายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพ หนักขึ้นเรื่อยๆ

นักเศรษฐศาสตร์ เตือน ไทยเสี่ยงเจอภาวะ รายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพ หนักขึ้นเรื่อยๆ
มติชน
7 มีนาคม 2565 ( 13:06 )
84

ข่าววันนี้ 7 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เขียนบทความเผยแพร่ผ่านทาง เฟซบุ๊ก Pipat Luengnaruemitchai วิเคราะห์ว่า ประเทศไทยเสี่ยงเจอภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่หนักขึ้นเรื่อยๆ โดยระบุว่า

 

เคยชวนคุยกันไปแล้วว่าในภาวะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ามาก แต่เริ่มมีสัญญาณเงินเฟ้อ มีความเสี่ยงที่เรากำลังจะเจอภาวะที่เรียกว่า stagflation ที่รายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพ

 

ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับทั้งผู้บริโภคที่จะเห็นค่าครองชีพสูงขึ้น ผู้ประกอบการที่ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแต่ส่งผ่านต้นทุนให้ผู้บริโภคไม่ได้เพราะเศรษฐกิจไม่ดี และแม้แต่ผู้กำหนดนโยบายที่อาจจะเจอข้อจำกัดด้านนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ

 

หลายคนบอกว่าไม่ต้องห่วงมาก เพราะระดับเงินเฟ้อเราไม่สูงนัก แต่ผมว่าที่น่าห่วงคือเงินเฟ้อคือระดับค่าครองชีพเฉลี่ย แต่คนรายได้น้อยที่มีสัดส่วนใช้พลังงานและอาหารมากกว่าคนรวยอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าที่อัตราเงินเฟ้อที่ทางการบอกมา

 

และล่าสุดเงินเฟ้อไทยเดือนกุมภาพันธ์ได้พุ่งทะลุ 5% ไปแล้ว ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2008 ซึ่งหลักๆ ก็มาจากราคาน้ำมันและอาหาร (โดยเฉพาะเนื้อหมู) แต่แม้ว่าจะหักอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ก็ขยับสูงขึ้นไปเกือบ 2% สูงที่สุดในรอบหลายปี

 

ส่วนหนึ่งก็เพราะ “ผลรอบสอง” ของต้นทุนราคาน้ำมันและอาหารเริ่มส่งผลให้ราคาสินค้าเริ่มต้องปรับตัวขึ้น เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารนอกบ้าน และราคาสินค้าอื่นๆ

 

มีแนวโน้มว่าเงินเฟ้อจะขึ้นต่อไปอีก เพราะตอนนี้ราคาน้ำมันแพงกว่าตอนเดือกุมภาพันธ์แล้ว

 

และเชื่อว่าหลายคนคงบ่นว่าค่าครองชีพตัวเองขึ้นมากกว่า 5% แน่ๆ

 

และแม้เงินเฟ้อจะขึ้น หลายคนยังบอกอีกว่าไม่น่าห่วงเพราะเงินเฟ้อมาจากฝั่งต้นทุนที่น่าจะเป็นปัญหา “ชั่วคราว”

 

แต่ความเสี่ยงสำคัญคือ ปัญหาวิกฤตรัสเซีย ยูเครน กำลังสร้างความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อ อาจจะไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวอย่างที่ว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อจนกระทบต่อการค้าของรัสเซียและยูเครนเป็นเวลายาวนาน

 

อย่าลืมว่า รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบเป็นอันดับสองของโลก รองจากซาอุดิอาระเบีย ผลิตน้ำมันวันละกว่า 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากน้ำมันนี้หายไป โลกจากหาอุปทานจากไหนมาทดแทน

 

มีคนพูดถึงราคาน้ำมันที่ 150 หรือ 200 เหรียญต่อบาร์เรลกันแล้ว! ซึ่งเศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเอาง่ายๆ

 

นอกจากนี้ รัสเซียส่งออกก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ยุโรปพึ่งพารัสเซียกว่าหนึ่งในสามผ่านท่อก๊าซ หากทะเลาะกันจนต้องปิดท่อก๊าซ ยุโรปคงต้องมาแย่งประเทศอื่นๆซื้อก๊าซธรรมชาติ ต้นทุนการผลิตคงสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะไทยที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า แม้เราจะมีการผลิตได้ในประเทศ แต่ราคาก็อิงราคาตลาดโลก และมีการนำเข้าบางส่วน

 

รัสเซียยังเป็นผู้ผลิตสำคัญของสินค้าโภคอื่นๆ เช่น ถ่านหิน พัลลาเดียม แพลตตินั่ม ทองแดง แร่เหล็ก และยังเป็นผู้ส่งออกสำคัญของข้าวสาลี และปุ๋ยเคมี

 

หากสินค้าพวกนี้ขาดแคลน ต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม อาหารสัตว์ และการเกษตรคงต้องขยับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะเกิดการขาดแคลนสินค้าด้วย

 

และถ้าเกิดปัญหาที่หนักขึ้นจริงๆ แม้เศรษฐกิจเราจะยังไม่ฟื้น แต่มีความเสี่ยงว่าปัญหาเงินเฟ้อจะไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ และไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวแน่ๆ

 

แล้วเราควรมีนโยบายอย่างไร?

ในฝั่งนโยบายการเงิน จริงอยู่ว่าปัญหาเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุน คงแก้ไม่ได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย (ขึ้นดอกเบี้ยไป รัสเซียคงไม่เลิกรบ หรือน้ำมันคงไม่ถูกลง) และด้วยเศรษฐกิจที่ยังอยู่ไกลจากระดับศักยภาพ แบงก์ชาติคงพอจะเน้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และไม่ขึ้นดอกเบี้ยไปก่อน

 

แต่ปัญหาคือยิ่งเงินเฟ้อสูงเป็นปัญหาที่ยาวนานขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเงินเฟ้อเข้าไปอยู่ในการคาดการณ์ของทุกฝ่าย การปรับค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าบ้าน และราคาสินค้าคงบวกเอาการคาดการณ์เงินเฟ้อใส่ลงไปด้วย แบบที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า wage price spiral ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อค้างในระดับสูง และลงยาก

 

นอกจากนี้ในภาวะปัจจุบัน ที่ธนาคารกลางใหญ่อย่างสหรัฐส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมเงินเฟ้อ หากเราไม่ขึ้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคงสูงขึ้นเรื่อยๆ และอาจส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะกลับมากระทบเงินเฟ้อจากสินค้านำเข้าอีกรอบ

 

โดยเฉพาะในภาวะที่เรายังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอาจทำให้เราขาดดุลมากขึ้นไปอีก เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาน้ำมันน้ำเข้ามากที่สุดในภูมิภาค ในขณะที่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวดูริบหรี่ลงจากความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป

 

แบงก์ชาติอาจจะเจอข้อจำกัดเชิงนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสอาจจะถูกบังคับให้ต้องเข้ามาดูแลเงินเฟ้อมากขึ้น อย่างน้อยก็โดยการสื่อสาร ก่อนที่เงินเฟ้อจะติดลมบน และกลายเป็นปัญหาใหญ่แบบที่โลกเคยเจอ

 

ในฝั่งนโยบายการคลัง รัฐบาลอาจจะพยายามเข้าดูแลราคาสินค้า และค่าครองชีพของประชาชน แน่นอนว่าการตรึงราคาสินค้าทำไม่ได้นานแน่ๆ เพราะจะเกิดการขาดแคลนในไม่ช้า รัฐบาลต้องเน้นให้มีการแข่งขันที่เสรี และเข้มงวดกับการใช้อำนาจเหนือตลาดกักตุนสินค้า หรือค้ากำไรเกินควร และดูแลกลุ่มเปราะบาง

 

และภาระการคลังกำลังในการอุดหนุนราคาสินค้าแบบครอบจักรวาลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีความจำเป็นที่อาจจะต้องลดการอุดหนุน หรือเปลี่ยนรูปแบบการอุดหนุนให้ใช้ทรัพยากรการคลังให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ตัวอย่างเช่น กองทุนน้ำมันใช้เงินมากกว่าเดือนละหมื่นล้าน ในการพยุงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม และค่าไฟก็จ่อรอขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น ภาระเหล่านี้จะสูงขึ้นไปอีกหากราคาน้ำมันขึ้นไม่หยุด

 

และด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ดี รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ ทุกบาททุกสตางค์มีค่า อาจจะมีคนตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าทำไมต้องตรึงราคา ให้คนรวยที่ขับรถยุโรปที่เติมน้ำมันดีเซล หรือครัวเรือนที่มีรายได้สูงทำไมถึงได้ซื้อก๊าซหุงต้มในราคาที่มีการอุดหนุน

 

การช่วยเหลือประชาชน โดยการดูแลค่าครองชีพ ด้วยนโยบายที่สร้างความบิดเบือนให้น้อยที่สุด การอุดหนุนที่ตรงจุด ถูกฝาถูกตัว และได้ประโยชน์สูงสุดจะเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาล

 

ก็หวังว่าสถานการณ์อย่างที่ว่าจะไม่เกิดนะครับ แต่เราคงต้อง hoping for the best แต่ prepare for the worst.

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ปัจจุบัน  ดำรงตำแหน่ง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) มีความสนใจด้าน Finance – International Finance และ  Macroeconomics  พิพัฒน์ จบปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ จาก University of California, Berkeley

ข่าวที่เกี่ยวข้อง