10 วันอันตรายปีใหม่ 6 วัน เสียชีวิต 272 เจ็บ 1,694 ราย
วันนี้ (2 ม.ค. 68) นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 1 ม.ค. 68 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" ช่วงวันที่ 27 ธ.ค.67- 5 ม.ค.68 พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุ 339 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 346 คน ผู้เสียชีวิต 50 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว รองลงมา คือ ดื่มแล้วขับ และทัศนวิสัยไม่ดี ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง โดยช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 00.01 - 01.00 น. เวลา 01.01-02.00 น.
สำหรับจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (24 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (36 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (7 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม ในช่วง 6 วันแรกของการรณรงค์ (27 ธ.ค.67 1 ม.ค.68) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,739 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,694 คน ผู้เสียชีวิต รวม 272 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 8 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (63 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (73 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (12 ราย)
นายภาสกร กล่าวด้วยว่า วันนี้เป็นแรกของการเปิดทำงานหลังจากเทศกาลปีใหม่ ซึ่งประชาชนบางส่วนได้เดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานครและจังหวัดเขตเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ แล้วขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังอยู่ในระหว่างการเดินทางกลับ ทำให้เส้นทางสายหลัก เส้นทางสายรอง รวมไปถึงถนนในชุมชนหมู่บ้าน ยังคงมีปริมาณรถหนาแน่น อีกทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมา หลังการเฉลิมฉลองปีใหม่ประชาชนบางส่วนได้เดินทางกลับทันที ทำให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะเกิดความเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ จึงทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 จึงได้ประสานทุกจังหวัด ให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน โดยให้เข้มข้นการตั้งด่านตรวจจุดตรวจ จุดสกัด บนถนนสายหลักเป็นระยะตลอดเส้นทาง เพื่อกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ การไม่สวมหมวกนิรภัย และการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย โดยหากพบผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว
ภาพจาก: TNN