รีเซต

แช่แข็งไข่ : มีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จแค่ไหน

แช่แข็งไข่ : มีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จแค่ไหน
บีบีซี ไทย
18 กุมภาพันธ์ 2563 ( 11:35 )
161
Science Photo Library

ลอร์ดโรเบิร์ต วินสตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ ให้สัมภาษณ์รายการทูเดย์ (Today) ทางบีบีซี เรดิโอ 4 กรณีมีความเคลื่อนไหว ในสหราชอาณาจักร ให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ควบคุมการแช่แข็งไข่ ที่ปัจจุบันกำหนดให้แช่แข็งไว้ได้นาน 10 ปี

ลอร์ดวินสตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ แห่งอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน เตือนว่าการแช่แข็งไข่ "เป็นเทคโนโลยีที่ล้มเหลว" ขณะที่ "จำนวนไข่ที่เก็บรักษาด้วยวิธีแช่แข็งที่นำไปสู่การตั้งครรภ์นั้นมีสัดส่วนเพียง 1%" ซึ่งเขาขยายความในเวลาต่อมาว่าหมายถึงการเกิดและมีชีวิตรอดของทารก

อย่างไรก็ดี สำนักงานการเจริญพันธุ์มนุษย์และตัวอ่อน (Human Fertilization and Embryology Authority หรือ HFEA) ของสหราชอาณาจักรเห็นว่า อัตราความสำเร็จอยู่ที่เกือบ 1 ใน 5 ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่ลอร์ดวินสตัน ระบุอย่างมาก

ทำไมตัวเลขนี้จึงต่างกัน

ทีมข่าวตรวจสอบความจริง (Reality check) ของบีบีซี ได้ศึกษาข้อมูลและพบว่า เหตุผลที่ทำให้ตัวเลขของผู้เชี่ยวชาญทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันอย่างมาก เพราะเป็นการวัดความสำเร็จโดยพิจารณาจากขั้นตอนการเจริญพันธุ์ที่แตกต่างกัน

การปฏิสนธินอกร่างกาย หรือ IVF โดยใช้ไข่ที่เก็บรักษาด้วยวิธีแช่แข็ง มีขั้นตอนดังนี้

  • นำไข่ที่เก็บรักษาด้วยวิธีแช่แข็งมาละลาย
  • ไข่ที่ยังมีชีวิตรอดจะถูกนำไปผสมกับอสุจิ
  • ไข่ที่ผ่านการผสมกับอสุจิและเกิดการปฏิสนธิจะพัฒนากลายไปเป็นตัวอ่อน
  • ในจำนวนตัวอ่อนที่รอดชีวิตจะมีเพียง 1 หรือ 2 ตัว ถูกย้ายไปฝังในมดลูก (หรือสูงสุด 3 ตัว สำหรับผู้หญิงที่มีอายุเกิน 40 ปี)

ตัวเลข 1% ที่ลอร์ดวินสตัน ผู้เชี่ยวชาญจากอิมพีเรียล คอลเลจ อ้างนั้น หมายถึงอัตราการตั้งครรภ์และอัตราเกิดของทารก จากไข่แช่แข็งทั้งหมดที่ถูกนำไปละลายเพื่อใช้ในการผสมเทียม โดยข้อมูลเมื่อปี 2016 ของสำนักงานการเจริญพันธุ์มนุษย์และตัวอ่อนระบุอัตราตั้งครรภ์ไว้ที่ 1.8%

ในปี 2516 ลอร์ดวินสตันต้องตอบคำถามของสภาขุนนางในเรื่องนี้ แต่ในขณะนั้น ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเกิด อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาข้อมูลปี 2015 พบว่าจากจำนวนไข่ที่ถูกนำไปละลายทั้งหมด มี 2% ที่นำไปสู่การตั้งครรภ์ โดยมีอัตราเกิดอยู่ที่ 0.7%

อีกด้านหนึ่ง สำนักงานการเจริญพันธุ์มนุษย์และตัวอ่อน วัดอัตราสำเร็จจาก จำนวนตัวอ่อน (ที่พัฒนามาจากไข่ที่เก็บรักษาด้วยวิธีแช่แข็ง) ที่เกิดและมีชีวิตรอด โดยพบว่าในปี 2017 ผู้ที่ทำ IVF โดยใช้ไข่แช่แข็งของตัวเอง มีอัตราสำเร็จอยู่ที่ 19%

การวัดทั้ง 2 วิธี ยังมีข้อมูลไม่สมบูรณ์

ผู้หญิงที่คิดจะเก็บรักษาไข่โดยใช้เทคโนโลยีแช่แข็งอาจต้องการทราบว่า มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์สำเร็จจากการทำ IVF ในหนึ่งรอบมากน้อยแค่ไหน แต่การดูอัตราสำเร็จที่เกิดจากไข่แต่ละใบ (ตัวเลขที่ต่ำกว่า) นั้น อาจเป็นการละเลยความจริงที่ว่าการทำ IVF แต่ละรอบนั้นต้องใช้ไข่หลายใบ

ดร.ซาราห์ มาร์ตินส์ ดา ซิลวา นรีแพทย์ของบริการสาธารณสุขแห่งชาติ ของอังกฤษ (NHS) และนักวิชาการด้านการแพทย์เจริญพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยดันดี (University of Dundee) อธิบายว่าในแต่ละขั้นตอนของการทำ IVF มีโอกาสที่ความสำเร็จจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ

"ไม่ใช่ว่าไข่ทุกใบจะกลายเป็นตัวอ่อน ไม่ใช่ว่าตัวอ่อนทุกตัวจะทำให้เกิด การตั้งครรภ์ และไม่ใช่ว่าการตั้งครรภ์ทุกครั้งจะนำไปสู่การให้กำเนิดทารก" เธอกล่าว และบอกด้วยว่า ขั้นตอนตั้งแต่การนำไข่ที่ผ่านการแช่แข็งไปละลาย ไปผสมกับสเปิร์มจนปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน และถ่ายฝากตัวอ่อนไปยังมดลูกนั้น จะต้องสูญเสียไข่ไปในทุกขั้นตอน

Getty Images

ด้านข้อมูลของ HFEA นั้น จะพิจารณาว่ามีอัตราเกิดก็ต่อเมื่อมีการถ่ายฝาก ตัวอ่อนไปยังมดลูกแล้ว ขณะที่การทำ IVF นั้นไม่ได้หมายความว่าจะเกิดเป็นตัวอ่อนในทุกรอบการทำ นั่นหมายความว่าอัตราผลสำเร็จในการตั้งครรภ์ตามวิธีวัดของ HFEA อาจจะต่ำกว่านี้มาก หากนับรวมการทำ IVF ที่ล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่มีการถ่ายฝาก ตัวอ่อนไปยังมดลูก

ข้อมูลเกี่ยวกับการทำ IVF ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2016 :

  • มีการละลายไข่ 1,204 ใบ แต่เราไม่รู้ว่าไข่เหล่านั้นได้มาจากผู้หญิงกี่คน หรือมีการทำ IVF กี่รอบ
  • ในจำนวนนี้ มีไข่ 590 ใบ (49%) ที่เกิดการปฏิสนธิ
  • ในจำนวนไข่ที่เกิดการปฏิสนธิ 590 ใบ มี 179 ใบ (30%) ได้รับการถ่ายฝากกลับไปฝังไว้ในมดลูกของคนไข้
  • ในจำนวนตัวอ่อนที่ได้รับการถ่ายฝาก มี 22 ตัว ที่พัฒนาไปสู่การตั้งครรภ์ (13%)
  • ในปีเดียวกันนั้น มีไข่ถูกแช่แข็งทั้งสิ้น 6,199 ใบ แต่ไม่น่าจะเป็นไข่ที่ถูกนำมาละลายในปีนั้น

ล่าสุดยังมีข้อมูลใหม่กว่านี้เกี่ยวกับการถ่ายฝากตัวอ่อนกลับไปยังมดลูก แต่ HFEA ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลข้างต้นเป็นประจำ

ทว่าข้อมูลเหล่านี้ก็ยังไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับอัตราการสำเร็จในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงแต่ละคน

สำหรับโอกาสที่ผู้หญิงแต่ละคนจะตั้งครรภ์ได้นั้นยังคงขึ้นอยู่กับอายุของผู้หญิงตอนที่นำไข่ไปเก็บรักษาด้วยวิธีแช่แข็ง และสุขภาพร่างกายในขณะนั้น

ข้อมูลของ HFEA ระบุว่าผู้หญิงที่นำไข่ไปเก็บรักษาด้วยวิธีแช่แข็งขณะมีอายุไม่ถึง 35 ปี มีโอกาสให้กำเนิดทารกต่อการทำ IVF หนึ่งรอบสูงกว่า โดยอัตราสำเร็จนี้มีแนวโน้มลดลงหากผู้หญิงมีอายุมากขึ้น ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้หญิงที่สุขภาพแข็งแรงกว่า และอายุน้อยกว่า จะมีโอกาสตั้งครรภ์ด้วยวิธีนี้ได้มากกว่า 19%

BBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง