งบ 4,280 ล้าน สู้ภัย "โควิด-19" "คัดกรอง"ทุกสิทธิ-รักษาฟรีผู้ป่วย "บัตรทอง"

งบ 4,280 ล้าน สู้ภัย “โควิด-19″ “คัดกรอง” ทุกสิทธิ-รักษาฟรีผู้ป่วย “บัตรทอง”
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ที่กำลังลุกลามไปทั่วทั้งโลก ถือเป็น โรคอุบัติใหม่ ที่ทุกประเทศต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจไปพร้อมกัน
ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา จึงเต็มไปด้วยความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อให้เข้าถึงธรรมชาติของโรคมากที่สุด ทั้งลักษณะของเชื้อ การแสดงอาการ การกระจายตัว อัตราการติดเชื้อ ฯลฯ
แน่นอนว่า ยิ่งนานวัน ข้อค้นพบเหล่านั้นยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดส่งผลโดยตรงต่อการกำหนดเกณฑ์การรักษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์การให้ยา เกณฑ์ของผู้ป่วยที่ต้องสอบสวนโรค (PUI) รวมถึงอีกหลากหลายเกณฑ์ที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้เท่าทันข้อมูลปัจจุบัน
ฉะนั้น นอกจากจะให้สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยบัตรทองรักษาโรคโควิด-19 ฟรีแล้ว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด โดยได้หารือร่วมกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อวางแนวทางการดูแลประชาชนให้ดีที่สุด
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ได้บอกเล่าถึงหลักใหญ่ใจความ 6 ประเด็น ที่ สปสช.ใช้ดำเนินการท่ามกลางภัยคุกคามโควิด-19 ประกอบด้วย
1.งบประมาณที่ใช้สนับสนุนเรื่องโควิด-19 มีทั้งสิ้น 4,280 ล้านบาท จะจัดสรรให้กับหน่วยบริการเพิ่มเติมจากงบเหมาจ่ายรายหัว
2.งบประมาณนี้ ครอบคลุมทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ งานป้องกันโรค งานรักษาพยาบาล และงานฟื้นฟูสภาพ ครบถ้วนทั้ง 4 มิติ
3.การกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น PUI การคัดเลือกยาเข้าสู่ระบบ ฯลฯ ส่วนใหญ่มาจากกรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์
4.ต้องบริหารทรัพยากรของชาติร่วมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน การศึกษา ซึ่งนอกจาก 3 กองทุนสุขภาพ (บัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ) แล้ว ยังมีโรงพยาบาลเอกชนอีกกว่า 1,000 เตียง เข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย
5.ปรับระบบต่างๆ ให้หน่วยบริการสามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ขณะที่ 3 กองทุนสุขภาพพยายามจะปรับระบบการจ่ายเงินให้ใกล้เคียงกันที่สุด ทั้งหมดเพื่อไม่ให้เป็นภาระของหน่วยบริการ โดยขณะนี้มีความใกล้เคียงกันแล้วถึงร้อยละ 80 6.ปรับเกณฑ์เพื่อรองรับการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ เช่น การส่งยาที่บ้าน การตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือแม้แต่การบริการทางการแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine
สำหรับการใช้งบประมาณเพื่อดูแลประชาชนนั้น เริ่มจาก งานส่งเสริมสุขภาพ และ งานป้องกันโรค ที่ สปสช.จะให้สิทธิ ตรวจคัดกรอง แก่ผู้ที่เข้าเกณฑ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด หรือผู้ที่มีประวัติความเสี่ยง ซึ่งจะครอบคลุมประชาชนทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมกับอำนวยความสะดวกให้ใช้งบประมาณจาก กองทุนตำบล มาสนับสนุนภารกิจยับยั้งโควิด-19 ได้ด้วย
อีกส่วนหนึ่ง เป็นการใช้งบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ของ สปสช.เพื่อสนับสนุนให้เกิดการปูพรมคัดกรองเชิงรุก (Active case finding) ในจังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ จังหวัดภาคตะวันออก สามจังหวัดชายแดนใต้ และภูเก็ต
ถัดมาคือ งานรักษาพยาบาล จะสนับสนุนการส่งต่อผู้ป่วย การใช้ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room) การใช้วัสดุอุปกรณ์และชุดป้องกันความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) และนวัตกรรมต่างๆ สุดท้ายคือ งานฟื้นฟูสภาพ เช่น การฟื้นฟูจิตใจหลังจากสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ตรงนี้ก็จะกำหนดไว้ต่อเนื่องเช่นกัน
“เราไม่ทิ้งเรื่องการคุ้มครองสิทธิของบุคลากรทางการแพทย์ผู้เสียสละ ซึ่งจะมีการดูแลอย่างเต็มที่ทั้งในกรณีการติดเชื้อ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต โดยจะมีการจ่ายชดเชยเป็น 2 เท่า จากหลักเกณฑ์ปกติซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เชื่อว่าทั้งหมดจะช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับทั้งประชาชนและบุคลากรด้านสาธารณสุขได้” นพ.ศักดิ์ชัย ระบุ
การดูแลบุคลากรทางสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สปสช.จะจ่ายเงินช่วยเหลือตามมติ ครม. ใน 3 ระดับ ได้แก่ 1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต จะจ่ายให้ตั้งแต่ 4.8 แสน-8 แสนบาท 2.กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือพิการที่มีผลต่อการดำรงชีวิต จะจ่ายให้ตั้งแต่ 2 แสน-4.8 แสนบาท และ 3.กรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จะจ่ายไม่เกิน 2 แสนบาท
พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กลุ่มภารกิจบริหารกองทุน สปสช. อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับงบประมาณ 4,280 ล้านบาท นั้น มาจากส่วนแรกคืองบประมาณของ สปสช. ที่ประหยัดมาจากการต่อรองราคายาได้ถึง 1,020 ล้านบาท อีกส่วนคืองบกลางที่รัฐบาลอนุมัติให้อีก 3,260 ล้านบาท
พญ.กฤติยา ขยายความเรื่องการตรวจคัดกรองอีกว่า การตรวจคัดกรองกลุ่มผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ถือว่าเป็นเรื่องสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้น สปสช.จะสนับสนุนค่าตรวจให้แก่ประชาชนคนไทยทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ
ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงตามที่ สธ.กำหนด และผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะติดโรคโควิด-19 เพราะมีประวัติความเสี่ยงสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดย สปสช.จะจ่ายค่าบริการให้ แต่หากไม่ได้เป็นไข้หรือไม่มีประวัติความเสี่ยงใดๆ ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ แนะนำว่าไม่ควรไปโรงพยาบาลเพราะจะทำให้ตัวเองมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
“ขอให้มั่นใจว่า สปสช.จะใช้งบประมาณที่มีอยู่เพื่อดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ โดยสถานบริการสามารถเบิกจ่ายได้นับตั้งแต่การรับบริการวันที่ 2 มีนาคมเป็นต้นไป” พญ.กฤติยา ระบุ