รีเซต

เช็กก่อน!ข้อดี-ข้อเสีย รีไฟแนนซ์บ้านก่อนยื่นกู้!!

เช็กก่อน!ข้อดี-ข้อเสีย รีไฟแนนซ์บ้านก่อนยื่นกู้!!
TNN ช่อง16
12 กันยายน 2563 ( 14:41 )
2.8K

        ในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 กระทบไปถึงการเงินของเรา อีกทั้งมาตรการพักชำระหนี้ของแบงก์ ส่วนใหญ่ก็เริ่มทยอยหมดมาตรการกันไป หลายคนอาจจะมีความจำเป็นต้องหาที่พึ่งจากแบงก์อีกครั้ง ด้วยการขอ "รีไฟแนนซ์" แต่การรีไฟแนนซ์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเดือดร้อนของเรา ณ ปัจจุบันเป็นสำคัญ 

        ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การทำรีไฟแนนซ์ (Refinance) มันก็คือ การชำระเงินกู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดด้วยเงินกู้ใหม่ หรือจะพูดง่ายๆก็คือ "เราแค่เปลี่ยนเจ้าหนี้ "นั่นเอง และยังใช้สินทรัพย์ตัวเดิมเป็นหลักประกัน โดยการขอกู้เงินจากธนาคารใหม่เพื่อนำไปปลดภาระเงินกู้เก่าที่มีอยู่   เช่น รีไฟแนนซ์ในกรณีที่เราผ่อนบ้านไม่ไหแล้ว ซึ่งหนี้ก้อนเดิมที่มีอยู่ดอกเบี้ยช่างสูงเหลือเกิน  หรือจะต้องจ่ายเงินงวดต่อเดือนสูง  ดังนั้น การรีไฟแนนซ์ครั้งนี้เราอาจจะต้องการได้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ค่างวดที่ต้องจ่ายต่อเดือนลดลง   ซึ่งจะขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารเดิมที่เป็นเจ้าหนี้เรา หรือธนาคารใหม่ก็ได้


cr:Pixabay

        แต่ตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า การจะรีไฟแนนซ์ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและต้องให้เกิดประโยชน์ คุ้มค่ามากที่สุด คือต้องให้หนี้ลดลงจริงๆ ดังนั้นเราจึงยกข้อดีและข้อเสียของการทำรีไฟแนนซ์มาเพื่อให้พิจารณากันก่อน 

ข้อดีการทำรีไฟแนนซ์

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่ที่ถูกกว่า ทำให้ดอกเบี้ยถูกลงกว่าเดิม
  • บางกรณีอาจได้วงเงินกู้มากขึ้นกว่ายอดคงค้างเดิม
  • ลดภาระหนี้ เพิ่มสภาพคล่องให้กับเงินในกระเป๋ามากขึ้น โดยเฉพาะจำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่อเดือนลดลง
  • ได้เงินส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้มีเงินเหลือใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ที่จำเป็น หรือเอาเงินที่ได้ไปหมุนใช้กับรายจ่ายที่จำเป็นได้ด้วย 

ข้อเสียของการทำรีไฟแนนซ์ 

  • ระยะเวลาผ่อนชำระนานขึ้น
  • เสียค่าจัดรีไฟแนนซ์ใหม่ เสียค่าใช้จ่ายจิปาถะในการดำเนินการ เสียเวลา และอาจต้องเสียค่าปรับหากมีการไถ่ถอนก่อนกำหนด
  • มีความยุ่งยากในการเตรียมเอกสาร เช่น เอกสารเกี่ยวกับรายได้ของผู้กู้ หากปัจจุบันผู้กู้ตกงาน หรือเป็นฟรีแลนซ์ ที่ไม่มีเสตทเมนท์ชัดเจน   ไม่สามารถหาเอกสารที่ยืนยันรายได้ของตนเอง อาจทำให้ไม่สามารถทำการรีไฟแนนซ์ได้ เป็นต้น

         เมื่อพิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสียของการรีไฟแนนซ์แล้ว หากมีความจำเป็นก็จะต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะเอกสารสำคัญในการยื่นกู้ เพื่อเข้าไปขอทำรีไฟแนนซ์กับธนาคาร  ซึ่งปัจจุบันบรรดาธนาคารหรือแบงก์พาณิชย์ต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วจะมีสินเชื่อรีไฟแนนซ์ที่เฉพาะเจาะจง ยังไม่ค่อยมีสินเชื่อที่มัดรวมทั้ง หนี้บ้าน รถ และบัตรเครดิต ดังนั้นเราจึงจะยกตัวอย่าง เทคนิคการยื่นรีไฟแนนซ์บ้านมาฝากกัน  


cr:Pixabay

เทคนิคการรีไฟแนนซ์บ้านที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ 

1. ควรตรวจสอบกับธนาคารว่าได้ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด ในเงื่อนไขที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นธนาคารเจ้าของสินเชื่อบ้านของเราอยู่แล้ว หรือธนาคารใหม่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด 

2. เมื่อได้ข้อมูลอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันทางการเงินต่าง ๆ มาแล้ว ให้คำนวณสินเชื่อของเราแบบคร่าวๆดูก่อน 

        วิธีการคือ  ให้นำข้อมูลสินเชื่อในสัญญากู้ซื้อบ้านอันเก่าที่ยังคงเหลืออยู่  นำมาเปรียบเทียบกับสัญญาเงินกู้ที่จะรีไฟแนนซ์ฉบับใหม่  (ค่างวดเก่า – ค่างวดใหม่)  พิจารณาดูว่า เมื่อรีไฟแนนซ์แล้ว จะประหยัดค่างวดลงได้เยอะหรือไม่ หากไม่แน่ใจให้ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ของธนาคารกรุงศรี ที่จะมีเครื่องมือการคำนวณเงินกู้เบื้องต้นไว้ให้ แค่กรอกข้อมูลลงไป โปรแกรมก็จะคำนวณตัวเลขออกมาให้แบบ ง่ายๆเลย  เครื่องมือคำนวณของธนาคารกรุงศรี คลิก  หากคำนวณแล้วประหยัดไปได้เยอะ ก็ค่อยตัดสินใจยื่นเรื่องขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารที่เห็นว่าคุ้มค่าที่สุดก็ได้ 

   อยากแก้หนี้?ต้องเริ่มที่ ปรับ'Mindset'

  แชร์เทคนิครีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ทำอย่างไรไม่ให้กลับมาเป็นหนี้อีก!

   ซื้อรถยนต์ 1 คันมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง คุ้มไหม?ถ้าหักลดหย่อนภาษีได้

3.ติดต่อธนาคารเก่าเพื่อขอสเตทเมนต์สรุปยอดหนี้เงินกู้ และนำเอกสารสรุปยอดหนี้ที่ได้มาไปทำเรื่องยื่นกู้กับธนาคารใหม่ที่เราจะขอรีไฟแนนซ์

4. ทำเรื่องยื่นกู้ใหม่กับธนาคารใหม่ที่เราจะขอรีไฟแนนซ์ ซึ่งขั้นตอนการรีไฟแนนซ์นั้น เหมือนกับการขอสินเชื่อใหม่เหมือนเดิมทุกประการ

5. รอผลอนุมัติจากธนาคารที่ยื่นกู้ใหม่

6. เมื่อธนาคารอนุมัติแล้วให้ติดต่อธนาคารเก่า เพื่อนัดวันไถ่ถอนที่สำนักงานที่ดิน ซึ่งธนาคารเดิมจะสรุปยอดหนี้ให้อีกครั้ง พร้อมทั้งแจ้งชื่อผู้รับมอบอำนาจของทางธนาคารที่จะไปทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดิน  ซึ่งเราต้องแจ้งยอดหนี้เป็นเงินต้นรวมดอกเบี้ยจนถึงวันไถ่ถอนแก่ธนาคารใหม่

7. ติดต่อนัดธนาคารใหม่ เพื่อนัดวันทำสัญญาและโอนทรัพย์ที่ใช้จำนองต้องเป็นวันเดียวกันกับที่นัดกับที่เดิมไว้

8.ทำเรื่องโอนที่ ณ สำนักงานที่ดินในเขตที่บ้านของเราตั้งอยู่ ทำการจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้เรียบร้อย โดยถ้ายอดกู้สูงกว่าราคาไถ่ถอน ธนาคารใหม่จะออกเช็คให้เรา 2 ใบ ใบหนึ่งจ่ายให้กับธนาคารเก่า และอีกใบหนึ่งให้เรา เมื่อจ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว มอบโฉนดที่ได้มาจากสำนักงานที่ดินให้กับธนาคารใหม่ที่เราเป็นหนี้ ก็ถือว่ารีไฟแนนซ์เสร็จเรียบร้อย เป็นหนี้กับเจ้าหนี้ใหม่ ทันที


ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์

    ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ก็เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาในการขอรีไฟแนนซ์ เพื่อประเมินว่าคุ้มค่าไหม ซึ่งก็ได้แก่ 

  • ค่าปรับการคืนเงินกู้ก่อนกำหนดตามสัญญาที่มีอยู่ ประมาณ 2-3% ของวงเงินกู้ทั้งจำนวน โดยบางแห่งคิดจากมูลหนี้ที่เหลืออยู่ (จ่ายให้กับผู้ให้กู้เดิม หากรีไฟแนนซ์ทั้งก้อนก่อนครบกำหนด 3 ปี)
  • ค่าจัดการสินเชื่อตามสัญญาใหม่ ประมาณ 0-1% ของวงเงินกู้ใหม่ (จ่ายให้กับผู้ให้กู้ใหม่)
  • ค่าธรรมเนียมในการจำนอง ประมาณ 1% ของราคาประเมิน (ไม่เกิน 200,000 บาท) (จ่ายให้กับกรมที่ดิน และไม่ต้องจ่ายถ้ารีไฟแนนซ์กับที่เดิม)
  • ค่าประเมินราคาหลักประกัน ประมาณ 2,500 บาท-0.25% ของราคาประเมิน (จ่ายให้กับผู้ให้กู้ใหม่ และอาจไม่ต้องจ่ายถ้ารีไฟแนนซ์กับที่เดิม)
  • ค่าทำประกันอัคคีภัย ประมาณ 2,000 บาทสำหรับบ้านมูลค่า 1 ล้านบาท (จ่ายให้กับผู้ให้กู้ใหม่)
  • ค่าอากรแสตมป์ ประมาณ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ (จ่ายให้กับผู้ให้กู้ใหม่)

        ทั้งนี้การพิจารณาว่าการรีไฟแนนซ์แต่ละครั้งจะคุ้มค่าหรือไม่  ให้พิจารณาดูส่วนต่างที่ประหยัดได้จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง (เปรียบเทียบจากค่างวดที่ต้องผ่อนระหว่างธนาคารเดิมและธนาคารใหม่)  รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์และจุดคุ้มทุนของการรีไฟแนนซ์ ถ้าพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งหมดแล้วคุ้มค่า ก็ให้ยื่นกู้กับธนาคารได้เลย

        แม้ว่าการรีไฟแนนซ์จะไม่ใช่ทางออกของการแก้หนี้ที่ดีที่สุด แต่ก็สามารถบรรเทาภาระของเราไปได้ช่วงหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการแก้หนี้ คือการปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย ให้มีวินัยมากกว่า จึงจะเป็นวิธีแก้ปัญหาหนี้ที่ดีที่สุด 



ที่มา:ธนาคารกรุงศรี

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง