รีเซต

วัคซีนโควิด: แอสตร้าเซเนก้าชี้แจงเหตุผลเลือกสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิต

วัคซีนโควิด: แอสตร้าเซเนก้าชี้แจงเหตุผลเลือกสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิต
บีบีซี ไทย
26 มกราคม 2564 ( 17:59 )
105
Reuters

หน่วยงานเกี่ยวข้องกับโครงการจัดหาวัคซีนโควิด -19 ของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทยอยออกมาแถลงชี้แจงสังคม หลังข้อสังเกตของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เกี่ยวกับความล่าช้าและโปร่งใสของโครงการนี้

หลังบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่าเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธย และคู่สัญญากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จากสหราชอาณาจักร ออกมาชี้แจงเมื่อ 25 ม.ค. ถึงข้อสงสัยบางส่วน เช่น ศักยภาพของโรงงานและการได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ

วันนี้ (26 ม.ค.) บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงบีบีซีไทยผ่านอีเมลใน 5 ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกัน ดังนี้

 

1. ทำไมจึงเลือก สยามไบโอไซเอนซ์

แอสตร้าเซนเนก้าอธิบายว่าบริษัทร่วมกับพันธมิตรในหลายประเทศก่อตั้งเครือข่ายความร่วมมือระดับโลกขึ้นเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนกว่า 3 พันล้านโดส ให้ได้มีความปลอดภัยได้สำเร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สำหรับประเทศไทย แอสตร้าเซนเนก้าได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข เอสซีจี และสยามไบโอไซเอนซ์ บนหลักการของการต่อยอดการให้ความสำคัญต่อผู้ผลิตระดับประเทศที่มีศักยภาพและความสามารถในการเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับโลก

 

 

พันธมิตรผู้ผลิตวัคซีนทุกรายของแอสตร้าเซนเนก้าจะต้องได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์การผลิตที่ดีและเป็นปัจจุบัน (CGMP ) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับการผลิตและการควบคุมคุณภาพของยา) รวมถึงการรับรองระบบคุณภาพและได้รับใบอนุญาตการผลิตในภูมิภาคที่ผู้ผลิตนั้นดำเนินการอยู่

 

2. ความพร้อมของการผลิตวัคซีนในไทย

แอสตร้าเซนเนก้าบอกว่าเริ่มดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนกับให้สยามไบโอไซเอนซ์ ตั้งแต่ ต.ค. 2563 และสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยจะดำเนินการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนในทุกจุดของกระบวนการผลิต รวมถึงการนำวัคซีนที่ได้จากการทดลองผลิตส่งไปยังห้องปฏิบัติการหรือแล็บในเครือข่ายของแอสตร้าเซนเนก้าที่มีเทคโนโลยีและระเบียบวิธีในการตรวจวิเคราะห์วัคซีนได้ตามมาตรฐาน

 

3. แผนการกระจายวัคซีนไทยในเป็นอย่างไร

สำหรับประเทศไทย วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ข้อตกลงการจัดซื้อของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้วางกลยุทธ์และดำเนินงานด้านการกระจายวัคซีนในประเทศ

Getty Images

4. ทำไมไทยซื้อ "แพง" กว่าบางประเทศ

แอสตร้าเซนเนก้าตอบว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะส่งมอบวัคซีนโดย "ไม่หวังผลกำไร"ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะผ่านกลไกใดก็ตาม

ทั้งนี้ ราคาต่อโดสที่แต่ละประเทศจ่ายขึ้นอยู่กับต้นทุนในการผลิตและความแตกต่างของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น กำลังการผลิต ค่าแรงและวัตถุดิบในการผลิตซึ่งจะมีต้นทุนต่างกันไป

 

BBC

 

เว็บไซต์บีบีซีนิวส์รายงานเมื่อ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา อ้างอิงข้อมูลจากบริษัทผลิตวัคซีนแต่ละรายและองค์การอนามัยโลก ระบุว่า วัคซีนที่ผลิตโดยแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มีราคาต่อโดสประมาณ 4 ดอลลาร์สหรัฐ (120 บาท) ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับรายอื่น ๆ ขณะที่วัคซีนจากโมเดอร์นาราคาต่อโดสราว 33 ดอลลาร์สหรัฐ (990 บาทต่อโดส) และวัคซีนจากไฟเซอร์ ราคาต่อโดสคือ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (600 บาทต่อโดส)

 

5. ข้อดีของวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า

แอสตร้าเซนเนก้าบอกว่าการนำวัคซีนแต่ละชนิดมาเปรียบเทียบกันโดยตรงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีความแตกต่างกันในด้านรูปแบบงานวิจัยและกลุ่มอาสาสมัคร และการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า AZD1222 มีขึ้นเพื่อต้องการเอาชนะโรคโควิด-19 ไม่ใช่เพื่อการแข่งขันกับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่น ๆ

ส่วนในเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัยนั้น จากผลการทดลองในเบื้องต้นโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พบว่าวัคซีน AZD1222 มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 และสามารถช่วยป้องกันการอาการติดเชื้อขั้นรุนแรงหรือต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

 

Reuters

 

วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิผลโดยรวมในการป้องกันโควิด-19 ที่ระดับ 70.4% (ดัชนีประสิทธิผลอยู่ระหว่าง 54.8% ถึง 80.6%) ภายหลังจากฉีดวัคซีนครบสองโดสเป็นเวลานานมากกว่า 14 วัน โดยวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการติดเชื้อขั้นรุนแรงหรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้หลังจากการฉีดโดสแรกเป็นเวลานานกว่า 21 วัน

นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการใช้งาน เนื่องจากวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าสามารถขนส่งและจัดเก็บได้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิของตู้แช่เย็นปกติที่มีใช้อยู่เดิมในระบบสาธารณสุข

 

ท่าทีที่เปลี่ยนไปของ อนุทิน

การออกมาตั้งคำถามผ่านการเฟซบุ๊กไลฟ์ และให้สัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซีไทย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เกี่ยวกับความล่าช้าและโปร่งใสของโครงการนี้ สร้างความโกรธเคืองต่อรัฐบาล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า "ไม่ใช่หน้าที่และประเด็นสำคัญ" ที่รัฐบาลต้องเปิดสัญญาจัดซื้อวัคซีนจาก บ.แอสตร้าเซนเนก้าเพื่อความโปร่งใส ตามคำเรียกร้องของนายธนาธร

 

ทว่าในวันนี้ รมว. สาธารณสุขใช้พื้นที่บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอบคำถามนายธนาธรในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในหลายประเด็น อาทิ ความล่าช้า ข้อจำกัดในการเจรจาจัดหาวัคซีนและการเปิดเผยข้อมูลสัญญา เหตุผลการสนับสนุนแอสตร้าเซนเนก้าในการตั้งฐานการผลิตในไทย และการจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดส จากแอสตร้าเซนเนก้า และอีกจำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัทไซโนแวค จากจีน และเหตุผลของการยังไม่รวมโครงการวัคซีนของ COVAX facility ขององค์การอนามัยโลก พร้อมกับยืนยันว่าไม่มีการผูกขาดการจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตรายหนึ่งรายใด

 

นายอนุทินกล่าวว่า การประชุมเตรียมการจัดหาวัคซีน ฒีมาตั้งแต่ เม.ย. 2563 ใช้เวลามากพอสมควร เมื่อมีความชัดเจนเกิดขึ้น จึงได้แถลงให้ประชาชนทราบอย่างเปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีส่วนร่วมในการทำงานนี้เพื่อการจัดหาวัคซีน มาให้คนไทยทุกคน ด้วยความปลอดภัย และยังสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนให้แก่ประเทศไทย ในฐานะผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนไวรัสโคโรนา 2019 เพียงประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน

"เราเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนทุกราย ที่ผลิตวัคซีนออกมาจำหน่ายในขณะนี้ การเจรจาจัดหาวัคซีน มีข้อจำกัดมากมายทั้งจากเงื่อนไขของผู้ผลิต และจากระบบกฎหมายไทย และ งบประมาณของประเทศไทยเอง" เขาอธิบาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง