รีเซต

อุบลฯ สาหัส! น้ำจากแม่น้ำมูลไหลท่วมย่านเศรษฐกิจ พื้นที่เกษตร-ประมงเสียหาย 3.1 แสนไร่

อุบลฯ สาหัส! น้ำจากแม่น้ำมูลไหลท่วมย่านเศรษฐกิจ พื้นที่เกษตร-ประมงเสียหาย 3.1 แสนไร่
มติชน
11 ตุลาคม 2565 ( 14:48 )
73
อุบลฯ สาหัส! น้ำจากแม่น้ำมูลไหลท่วมย่านเศรษฐกิจ พื้นที่เกษตร-ประมงเสียหาย 3.1 แสนไร่

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในจ.อุบลราชธานี ว่า มวลน้ำจากแม่น้ำมูลเริ่มไหลท่วมถนนบูรพาและถนนพิชิตรังสรรค์ เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี โดยมีน้ำไหลท่วมผิวจราจรสูงประมาณ 20-30 ซม. ซึ่งถนนสายนี้ถือเป็นย่านเศรษฐกิจชานเมือง มีตลาดสด ธนาคาร โรงแรมระดับ 5 ดาว โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ ร้านจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไป และสถานบันเทิง ร้านอาหารกึ่งผับ ตั้งอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านดู่ ชุมชนบูรพา ต้องอพยพทรัพย์สินหนีน้ำเพื่อความปลอดภัย

 

 

ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า สาเหตุที่น้ำท่วมสูงกว่าปี 2562 ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ช้าเกินไป มีการเปลี่ยนแปลงส่วนราชการที่รับผิดชอบบ่อย ทำให้การเตรียมรับน้ำที่กำลังไหลมาไม่ดีพอ เมื่อมีพายุเข้ามาเติมทำให้น้ำที่ท่วมอยู่แล้วสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงอยากให้มีการวางแผนการรองรับน้ำให้ดีกว่านี้ รวมทั้งความช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ต้องรวดเร็ว

 

 

ขณะที่ถนนเชื่อมอำเภอเมืองอุบล และอำเภอวารินชำราบถูกตัดขาดสิ้นเชิงไปแล้ว 2 เส้นทางทำให้ประชาชนต้องใช้เรือในการสัญจรไปมาเพราะระดับน้ำล้นตลิ่งสูงกว่า 4.40 เมตร ซึ่งเป็นถนนสายเศษฐกิจ มีห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ โรงแรม แมนชั่น ปั๊มน้ำมัน ร้านค้าขายส่งและปลีก ขนาดใหญ่ ทั้ง 2 เส้นทางต้องปิดกิจการชั่วคราว การขนส่งสินค้าโดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างที่ถูกส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านต้องหยุดชะงัก คาดว่ามีมูลค่าการเสียโอกาสไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

 

 

ปัจจุบันยังคงเหลือถนนสายเลี่ยงเมืองฝั่งตะวันออก. ถนนหมายเลข 231 บ้านบัวท่า-บัวเทิง เพียงเส้นเดียว ซึ่งทำให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวันปกติประชาชนเดินทางไปทำงาน การจราจรติดขัดรถติดยาวเหยียดไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร แขวงการทางอุบลราชธานี ที่ 1 ได้เร่งระดมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร จากแขวงการทางอำนาจเจริญ, ยโสธร, ศรีสะเกษ รวมทั้งจิตอาสา เร่งทำการกรอกกระสอบทรายและบิ๊กแบ๊ก นำไปวางขอบผิวถนนจุดที่เป็นแอ่งกระทะ ป้องกันน้ำเข้าท่วมถนน โดยใช้บิ๊กแบ๊กกว่า 4,000 ถุง, กระสอบทรายกว่า 15,000 ลูกไปวางเรียงเพื่อป้องกันน้ำท่วมถนน ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำได้เพิ่มสูงเกือบถึงระดับผิวการจราจร บางจุดได้ล้นเข้ามาแล้ว หากเส้นทางหมายเลข 231 ถูกน้ำท่วมหนักมากจะส่งผลให้ถนนเชื่อมอำเภอเมืองอุบล และอำเภอวารินชำราบถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง

 

 

ล่าสุดชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย จำนวน 19 อำเภอ 136 ตำบล 1,084 หมู่บ้าน

ด้านการดำรงชีพ จำนวน 31 ตำบล 181 หมู่บ้านได้รับผลกระทบ 15,960 ครัวเรือน 52,440 คน ถนน 86 สาย วัดและสำนักสงฆ์จำนวน 65 แห่ง โรงพยาบาล สต. 9 แห่ง โรงเรียน 52 โรงเรียน อพยพ 177 ชุมชน 7,882 ครัวเรือน 24,239 คน แยกเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว 86 จุด จำนวน 4,209 ครัวเรือน 13,891 คน พักบ้านญาติ จำนวน 923 ครัวเรือน จำนวน 2,683 คน อพยพขึ้นที่สูง 2,750 ครัวเรือน 7,665 คน

จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินอุทกภัย 15 อำเภอ พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 309,710.75 ไร่ พื้นที่ประมง ได้รับความเสียหาย 540.75 ไร่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง