รีเซต

"IMF"หนี้สาธารณะทั่วโลกพุ่ง แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

"IMF"หนี้สาธารณะทั่วโลกพุ่ง  แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
TNN ช่อง16
16 ตุลาคม 2563 ( 09:44 )
4.6K

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกออกมาตรการเยียวยาและลดผลกระทบของโควิด-19 เป็นเม็ดเงินมหาศาล  เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน การว่างงาน และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลทั่วโลกมีหนี้มหาศาล 

ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่าแนวโน้มหนี้ของรัฐบาลทั่วโลกในปีนี้ทยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นจะแตะระดับ 100% ของจีดีพีหรือไม่ และรัฐบาลประเทศไหนมีหนี้สาธารณะมากที่สุดในโลก ....


ข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) เปิดเผยรายงาน “Fiscal Monitor”  โดยคาดการณ์ว่า หนี้ของรัฐบาลทั่วโลก หรือหนี้สาธารณะทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 98.7 เปอร์เซนต์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (GDPโลก) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 

หลังจากรัฐบาลทั่วโลกพากันระดมมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19  โดยในจำนวนนี้ “ครึ่งหนึ่ง” คือ มาตรการลดภาษีชั่วคราว และมาตรการสนับสนุนสภาพคล่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการค้ำประกันเงินกู้ และการอัดฉีดเงินทุนจากภาครัฐ 



โดยในรายงาน “Fiscal Monitor” พบว่าในปีนี้ประเทศที่มีหนี้สาธารณะสูงที่สุดในโลก 5 อันดับแรก ได้แก่   “รัฐบาลญี่ปุ่น” มีระดับหนี้สาธารณะสูงสุดในโลก ที่ระดับ 266.2 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี / รองลงมาคือ กรีซ อยู่ที่ระดับ 205 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี  //อิตาลี อยู่ที่ระดับ 161.8  เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี   // โปรตุเกส อยู่ที่ระดับ 137.2  เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี   // และสหรัฐฯ  กับสิงคโปร์ อยู่ที่ระดับ 131.2 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี   



ขยับเข้ามาดูใกล้ๆ ในอาเซียนบ้าง พบว่าตัวเลขหนี้สาธารณะในปีนี้ของ 5 ประเทศในอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging market economies) ยกเว้นสิงคโปร์ พบว่า รัฐบาลประเทศเหล่านี้ยังมีภาระหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก  

โดย มาเลเซีย อยู่ที่ระดับ 67.6 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี   ส่วประเทศไทย  อยู่ที่ระดับ 50.4 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี  // ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ระดับ 48.9 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี  และอินโดนีเซีย อยู่ที่ระดับ 38.5 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี 

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของประเทศไทย ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ อยู่ที่ระดับ 50.4 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี จากระดับ 41.1 เปอร์เซนต์ในปีก่อน ถือว่าเป็นระดับที่น้อยมาก  เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ที่มีระดับหนี้สาธารณะในปีนี้เฉลี่ย 62.2 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี 

และตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศไทยที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ ยังใกล้เคียงกับที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง คาดการณ์ไว้ที่ 51.6 เปอร์เซนต์ของจีดีพี และในปีหน้าไอเอ็มคาดว่าหนี้สาธาณะต่อจีดีพีของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 56.4 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี ขณะที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ คาดว่าจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 57%  ซึ่งยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ที่ระดับ 60 เปอร์เซนต์ของจีดีพี 



ทั้งนี้ หากเจาะดู “เฉพาะ” เม็ดเงินที่รัฐบาลในประเทศต่างใช้จ่ายเพื่อเยียวยาและลดผลกระทบของโควิด-19 ทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการภาษี และเงินโอนต่างๆ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐผ่านการใช้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ 

โดยข้อมูลที่ธนาคารแห่งประเทศไทย รวบรวมข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 23 กันยายน 2563  พบว่า  หากดูเม็ดเงินที่ใช้ไปคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี 5 อันดับแรก ได้แก่ อิตาลี ซึ่งมีผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับต้นๆ ของโลก ใช้เม็ดเงินอัดฉีดไปแล้วมากที่สุดประมาณ 49.7 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี  

รองลงมาคือรัฐบาลของญี่ปุ่น อัดฉีดเม็ดเงินไปแล้วราว 43.4 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี  //ตามมาด้วย เยอรมนี  ใช้เม็ดเงินไปแล้ว 34.2 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี  ขณะที่ สหรัฐฯ ใช้เม็ดเงินไปแล้ว 32 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี และฝรั่งเศส ใช้เม็ดเงินไปแล้ว 23.2 เปอร์เซนต์ต่อจีดีพี 

จะเห็นว่ารัฐบาลของประเทศที่ใช้เม็ดเงินคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีค่อนข้างสูง เพื่อเยียวยาและลดผลกระทบโควิด-19 จะเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมากติดอันดับต้นๆ ของโลก และประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นสูงเช่นกันในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟ เห็นถึง “ความจำเป็น” ที่ภาครัฐต้องใช้จ่ายการคลังมากขึ้นไปจนถึงปีหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน การว่างงาน และความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น 


โดยจากรายงาน “Fiscal Monitor” ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า “ทุกครั้ง” ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 // สงครามโลกครั้งที่2  // วิกฤตการเงินโลก จนถึงวิกฤตโคววิด-19 พบว่า รัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว จะใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจำนวนมหาศาล ทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศพัฒนาแล้วพุ่งขึ้นสูงกว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ 


อย่างไรดี แม้ตัวเลขหนี้สาธารณะของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นสูงในปีนี้ และมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นในปีต่อไป แต่ไอเอ็มเอฟมองว่าในปี 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะทั่วโลกน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ภายใต้สมมติฐานที่ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ท่ามกลางภาวะที่ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมากต่อเนื่อง  



โดยไอเอ็มเอฟคาดว่า ในปีหน้า( 2564) รัฐบาลทั่วโลกจะมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 99.8 เปอร์เซนต์ของจีดีพี และเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 100 เปอร์เซนต์ของจีดีพีในปี 2565 ก่อนจะทรงตัวระดับดังกล่าวจนถึงปี 2568 
อย่างไร แม้ไอเอ็มเอฟ จะเห็นความจำเป็นที่ภาครัฐต้องใช้จ่ายการคลังมากขึ้น แต่ก็แสดงความกังวลว่า การชำระคืนเงินต้นที่อยู่ในระดับมากเกินปกติ อาจจะเป็นตัวฉุดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้ 


เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นในการชำระหนี้ ซึ่งเบียดบังเม็ดงบประมาณที่ควรจะนำไปกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเยื้อยืดและมีการระบาดรอบ2  โอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งตามที่ไอเอ็มคาดการณ์ไว้อาจเป็นไปได้ยาก 

เพราะฉะนั้นทิศทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอนสูง นั่นหมายความว่า รัฐบาลทั่วโลกอาจต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ และสิ่งที่ตามมาคือหนี้สาธารณะที่สูงมากขึ้นตามไปด้วย  ซึ่งอาจกลายเป็นวิกฤติการคลังของรัฐบาลทั่วโลก และนี่คือความเสี่ยงทางด้านการคลัง ที่นักเศรษฐศาสตร์เป็นกังวลหากไม่สามารถปรับลดภาระหนี้สาธารณะให้ลงได้ในระยะกลางและระยะยาว 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม รายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563


 

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง