รีเซต

แก้ปัญหาวัตถุดิบ บทพิสูจน์ความจริงใจภาครัฐ

แก้ปัญหาวัตถุดิบ บทพิสูจน์ความจริงใจภาครัฐ
มติชน
29 มีนาคม 2565 ( 14:30 )
46

แก้ปัญหาวัตถุดิบ บทพิสูจน์ความจริงใจภาครัฐ โดย ดำรง พงษ์ธรรม

วันนี้หลายคนคงทราบแล้วว่า สงครามยูเครนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกขนาดไหน ทั้งด้านราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทุกประเทศตระหนักดีถึงความสำคัญอย่างที่สุด ดังจะเห็นหลายประเทศระงับการส่งออกธัญพืชเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารของตน ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่หนีไม่พ้นผลพวงของสงครามแม้จะอยู่กันคนละซีกโลก แต่ไทยได้เตรียมการในสถานการณ์วิกฤตนี้อย่างไร หลังจากต้นทุนการผลิตอาหารพุ่งสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาอาหารขยับขึ้นเป็นทิวแถว และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกราว 25-30% ไปตลอดระยะเวลาครึ่งปีนับจากนี้

 

สถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน จำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจของภาครัฐอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบจากความมั่นคงทางอาหารที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยรัฐต้องเร่งแก้ตั้งแต่ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งในเชิง “ปริมาณ” และ “ราคา” ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของภาคปศุสัตว์ในการผลิตอาหารมนุษย์ โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ต้องการใช้มากที่สุดอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง

 

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ในแต่ละปีข้าวโพดเป็นธัญพืชที่ไทยผลิตได้เองในประเทศราว 5 ล้านตัน/ปี น้อยกว่าความต้องการใช้ที่ 8 ล้านตัน/ปี ขาดแคลนอีกถึง 3 ล้านตัน/ปี จึงเป็นที่มาของความต้องการนำเข้าข้าวโพด โดยนำเข้าจากเมียนมาได้ในช่วงเดือนที่รัฐกำหนดเท่านั้น คิดเป็นปริมาณราว 1.5 ล้านตัน/ปี ยังคงขาดอีก 1.5 ล้านตัน ที่ควรจะนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตใหญ่อย่างสหรัฐ บราซิล หรืออาร์เจนตินา ได้อย่างเสรี แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมีเงื่อนไขโควต้านำเข้าได้เพียง 54,000 ตัน/ปี ซึ่งต้องเสียภาษีโควต้าที่ 20% ยิ่งถ้าหากนำเข้านอกเหนือจากโควต้าจะเสียภาษีสูงถึง 73% ทั้งหมดก็คือต้นทุนมหาศาลที่กดดันผู้ผลิตอาหารสัตว์มาตลอด และในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ รัฐจำเป็นต้องยกเลิกภาษีโควต้าเหล่านี้ทันที เพื่อเปิดทางจัดหาวัตถุดิบเข้ามาป้อนไลน์การผลิตอาหารสัตว์โดยด่วน

 

ปัญหาไม่ได้หยุดแค่นี้ เมื่อรัฐยังมีเงื่อนไข 3 : 1 เข้ามาบังคับอีกว่าหากต้องหาวัตถุดิบทดแทน เช่น ข้าวสาลี ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนก่อน จึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน เงื่อนไขนี้เองที่ส่งผลร้ายมหันต์ในปัจจุบัน เมื่อข้าวโพดขาดแคลนอยู่แล้วจะให้ไปซื้อจากที่ไหน 3 ส่วน เท่ากับปิดประตูนำเข้าวัตถุดิบทดแทนทันที (แม้สถานการณ์สงครามจะทำให้ราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นมาเท่ากับข้าวโพด จนแทบไม่มีแรงจูงใจในการซื้อเข้ามาทดแทนแล้วก็ตาม) จริงอยู่ รัฐประกาศยกเลิกมาตรการ 3:1 ชั่วคราวถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 65 ออกมา แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียด จนไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ซึ่งเปล่าประโยชน์เหลือเกิน ทั้งๆ ที่รัฐมีข้อมูลตัวเลขต่างๆ เพื่อการตัดสินใจอย่างครบถ้วนแล้ว

 

กากถั่วเหลือง

การผลิตอาหารสัตว์ต้องใช้กากถั่วเหลืองราว 24% ของวัตถุดิบทั้งหมด แต่ละปีจะใช้ประมาณ 4 ล้านตัน ได้จากโรงงานสกัดน้ำมันพืชในประเทศไทยเพียง 1 ล้านกว่าตัน ที่เหลือก็ต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองจากบราซิล อาร์เจนตินา และสหรัฐ เป็นหลัก วัตถุดิบตัวนี้ก็ถูกรัฐกำหนดเงื่อนไขแปลกๆ อีกเช่นกัน โดยอนุญาตให้โรงงานน้ำมันพืชนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองได้เสรี ภาษี 0% แต่หากนำเข้ากากถั่วเหลืองต้องเสียภาษี 2%

 

นอกจากนี้ เมล็ดถั่วเหลือง 100% สกัดเป็นน้ำมันพืชได้ 20% ที่เหลือจะกลายเป็น “กากถั่วเหลือง” ให้โรงงานน้ำมันพืชนำไปขายผู้ผลิตอาหารสัตว์ แทนที่จะขายในราคาไม่บวกภาษี กลับขายใกล้เคียงกากถั่วนำเข้า ทำกำไรได้อีก 2% ทั้งๆ ที่ตนไม่ได้เสียภาษีนำเข้าเมล็ด ตรงนี้เป็นต้นทุนแฝงของอาหารสัตว์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกมานาน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวิกฤตวันนี้ รัฐควรยกเลิกมาตรการภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ทันที เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการผลิต และเปิดทางการจัดหาวัตถุดิบชนิดนี้เข้ามาให้ทันเวลา

 

ของไม่พอ แต่ปล่อยให้ส่งออกเสรี

อีกประเด็นสำคัญคือในเมื่อประเทศกำลังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ แต่รัฐกลับยังปล่อยให้มีการส่งออกข้าวโพดอย่างเสรี เป็นเหตุให้เกิดการดึงราคาข้าวโพดในประเทศให้สูงขึ้นอีก เกิดปัญหาทับซ้อนทั้งเรื่องปริมาณและราคา นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้โรงสกัดน้ำมันพืช ส่งออกกากถั่วเหลืองได้ 20% ของกำลังผลิต ซ้ำเติมการขาดแคลนและขัดแย้งกับข้อตกลงที่ต้องมีการซื้อขายกากถั่วกันในประเทศก่อน โดยปริมาณส่งออกในปี 2564 พบว่ามีการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 93,615 ตัน และกากถั่วเหลือง มีการส่งออกถึง 103,091 ตัน หากยังคงนโยบายนี้อยู่ ย่อมส่งผลต่อราคาขายภายในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบได้อย่างปกติ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองจะยิ่งแพงขึ้นไปอีก ภาครัฐจึงควรพิจารณาระงับการส่งออกพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ทันทีเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เหมือนเมื่อครั้งเนื้อหมูเริ่มขาดแคลนที่รัฐรีบห้ามส่งออกเพื่อรักษาปริมาณหมู

 

การตัดสินใจแก้ปัญหาสำคัญเช่นนี้ เป็นบทพิสูจน์ความสามารถและความจริงใจของรัฐ ซึ่งในที่สุดจะสะท้อนภาพความสำเร็จหรือล้มเหลวได้ชัดเจน โปรดเร่งแก้กฎเกณฑ์เพื่อประคับประคองสถานการณ์อย่างด่วนที่สุด เพราะวัตถุดิบที่เหลือยังมีพอยืดเวลาไปได้เพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ที่สำคัญเมื่อราคาวัตถุดิบขึ้นทุกวัน แต่ราคาขายอาหารสัตว์และผลผลิตเนื้อสัตว์ขึ้นไม่ได้เพราะถูกรัฐคุมด้วยเพดานราคา อีกไม่นานประเทศไทยคงไม่เหลือคนผลิตอาหารให้คนไทยรับประทาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง