ลูกค้าธอส.โอดเพิ่งรู้ 3 เงื่อนไขมาตรการ 5 "พักเงินต้น-ยกดอก" ธอส.เพิ่มเมนู 'ยกเลิก' สัปดาห์หน้า
จากกรณีที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศมาตรการลดภาระให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เพิ่มเติม เป็นมาตรการที่ 5 “มาตรการพักชำระเงินต้นและยกดอกเบี้ย” เป็นระยะเวลา 4 เดือน สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีวงเงินกู้ทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 3 ล้านบาท และมีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท ซึ่งมีลูกค้าที่เข้าข่ายมาตรการ 1.1 ล้านบัญชี ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาตรการ ผ่านแอพพลิเคชั่น GHB ALL ตั้งแต่วันที่ 13 – 30 เมษายน 2563 นั้น
อ่านเพิ่มเติม : ธอส.ยันลูกค้าสวัสดิการ ได้สิทธิมาตรการ 5 “พักชำระหนี้-ยกดอก” 4 ด.
เมื่อวันที่ 18 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ลูกค้าที่กู้บ้าน ธอส.ที่เข้าไปได้ลงทะเบียนใช้สิทธิมาตรการที่ 5 “มาตรการพักชำระเงินต้นและยกดอกเบี้ย” ที่แอพพ์ GHB ALL ของธอส. ผลปรากฏว่าที่แอพพ์ขึ้นรายละเอียดมาตรการที่ 5 ว่า “มาตรการที่ 5 พักชำระเงินต้น พักดอกเบี้ยนาน 4 เดือน โดยดอกเบี้ยพัก ยกให้ไม่ต้องชำระ”
และเมื่อลงทะเบียนใช้สิทธิสำเร็จแล้ว ก็มีลูกค้าธอส.หลายรายโทรศัพท์สอบถามคอลเซ็นเตอร์ 0-2645-9000 และที่เพจ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยได้รับคำชี้แจงว่า ในการเข้ามาตรการที่ 5 นั้น จะมีเงื่อนไขที่ลูกค้าต้องปฏิบัติตาม 3 ข้อ คือ
1. เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 เดือนที่เยียวยา ในเดือนที่ 5 ลูกค้าจะชำระค่างวดหรือโปะได้ไม่เกินค่างวดปกติ จำนวน 2 งวดรวมกัน
2.ห้ามปิดบัญชีเงินกู้หรือรีไฟแนนซ์ไปยังธนาคารอื่น กรณีที่จะปิดบัญชีหรือรีไฟแนนซ์ จะต้องจ่ายดอกทั้ง 4 เดือนก่อน
3.ไม่สามารถรีเทนชั่นใช้สิทธิสวัสดิการ (ลดหย่อนได้ MRR-2) ได้ตลอดอายุสัญญาที่เหลืออยู่ ถ้าจะรีเทนชั่น จะต้องจ่ายดอกทั้ง 4 เดือนก่อน
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่เมื่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ธอส. ก็ได้คำตอบว่า เงื่อนไขข้อที่ 3 นั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติว่าตลอดสัญญากู้จะยังสามารถรีเทนชั่นใช้สิทธิสวัสดิการ(MRR-2) ได้หรือไม่
เช่นเดียวกับที่เพจธอส. ก็มีลูกค้าเข้าไปสอบถามจำนวนมากถึงกรณีที่ธอส.ระบุว่า “ดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ 4 เดือน ธอส.ยกให้ทั้งหมด ไม่ต้องจ่าย โดยจะนำไปยกให้ในงวดเดือนสุดท้ายของสัญญา” แปลว่าอะไร
ซึ่งแอดมินเข้ามาตอบว่า
สำหรับดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ 4 เดือนหลังจากลงมาตรการที่ 5 เรียบร้อยแล้ว ธอส.ยกให้ทั้งหมด ลูกค้าไม่ต้องจ่ายโดยทางธนาคารจะนำไปยกให้ในงวดเดือนสุดท้ายของสัญญา
เช่น ตามสัญญาลูกค้าผ่อนกับธอส.ทั้งสิ้น 30 ปีแล้วลูกค้าก็ได้ผ่อนครบ 30 ปี ลูกค้าไม่ต้องนำจ่ายดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ 4 เดือนนี้ กรณีลูกค้าต้องการรีไฟแนนซ์ไปสถาบันการเงินอื่นก่อนครบสัญญา ลูกค้าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่พักไว้ก่อนจึงจะดำเนินการได้
ทั้งนี้สำหรับมาตรการที่ 5 ลูกค้าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในระหว่างสัญญากู้ได้
และเมื่อมีสมาชิกเข้าไปสอบถามด้วยเหตุผลว่ายังไม่เคลียร์ เพราะหลายคนย่อมไม่อยู่ในสัญญาครบ 30 ปี เพราะต้องปิดบัญชีหรือรีไฟแนนซ์แน่นอน ก็มีสมาชิกเฟซบุ๊กเข้ามาช่วยตอบให้ว่า เดือนสุดท้าย ลูกค้าก็ต้องจ่ายดอกที่พักไว้ทั้ง 4 เดือนดังกล่าว ซึ่งเท่ากับไม่ได้ยกให้ฟรีจริง
ทั้งนี้ส่งผลให้ลูกค้าบางส่วนรู้สึกว่าไม่ใช่มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง
โดยผู้ลงทะเบียนเข้ามาตรการที่ 5 เปิดเผยกับมติชนว่า ตอนแรกรู้สึกดีใจที่ธอส.ที่ออกมาตรการที่ 5 โดยยกดอกเบี้ย 4 เดือนให้ฟรี จึงรีบลงทะเบียนเข้ามาตรการ 5 จากนั้นมีเพื่อนๆ มาทักท้วงว่ามาตรการดังกล่าวมีเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติด้วย จึงได้โทรศัพท์สอบถามคอลเซ็นเตอร์ก็ได้รับคำตอบว่ามีเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามจริง 3 ข้อดังกล่าว คือ 1. ในเดือนที่ 5 ห้ามชำระหรือโปะค่างวดเกิน 2 เดือน 2.ห้ามปิดบัญชีหรือรีไฟแนนซ์ ถ้าจะปิดบัญช่หรือรีไฟแนนซ์ จะต้องจ่ายดอกที่ได้รับการยกทั้ง 4 เดือนก่อน และ 3 ห้ามรีเทนชั่นหรือทำเรื่องลดหย่อนดอกเบี้ยตลอดสัญญา ยกเว้นจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ยกให้ทั้ง 4 เดือนก่อน
และเมื่อโวยวายกับคอลเซนเตอร์ว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ทราบมาก่อน แม้แต่ในแอพพ์ก็ไม่มีระบุรายละเอียด ส่งผลให้รู้สึกว่าเป็นการซ้ำเติมเพราะจากนี้จะไม่สามารถทำเรื่องขอลดหย่อนดอกเบี้ยได้อีกแล้ว ขณะที่จะรีไฟแนนซ์ ก็ต้องจ่ายดอกทั้ง 4 เดือนคืนให้กับธอส.ก่อน ส่งผลให้คอลเซ็นเตอร์ตอบว่าในสัปดาห์หน้าทางธอส.จะเปิดให้ลูกค้าที่เปลี่ยนใจสามารถไปลงทะเบียนยกเลิกการใช้สิทธิมาตรการที่ 5 ได้โดยจะมีการเพิ่มเมนู “ยกเลิก” ในแอพพ์
นายเอ (นามสมมุติ) ลูกค้าธอส. อีกราย กล่าวว่า พอทราบว่าธอส.ได้เปิดมาตรการที่ 5 โดยยกดอกเบี้ยให้ 4 เดือน ได้โทร.ไปสอบถามคอลเซ็นเตอร์ ก็ได้รับการชี้แจงว่า เมื่อลงทะเบียนแล้ว หากมีการรีไฟแนนซ์ไปยังธนาคารอื่น มีการปิดบัญชีก่อนหมดสัญญา จะต้องคืนดอกเบี้ยที่ได้ยกเว้น 4 เดือน ซึ่งตนได้ถามย้ำว่ากรณีที่รีเทนชั่นดอกกับธอส. ยังทำได้ปกติหรือไม่ เจ้าหน้าที่ธอส.ชี้แจงว่ายังทำได้ปกติ ไม่มีผลอะไร ก่อนที่จะมาทราบคำตอบในภายหลังในเพจธอส.ว่ากรณีรีเทนชั่น ทำได้ก็ต่อเมื่อต้องคืนดอกเบี้ยทั้ง 4 เดือนให้กับธนาคารก่อน หากเป็นเช่นนี้ตนคงขอยกเลิกการเข้าร่วมมาตรการที่ 5 เพราะดูแล้วไม่คุ้ม แถมยังเสียผลประโยชน์เพราะอดรีเทนชั่นหรือลดหย่อนดอกเบี้ย