นักวิจัยจีนพัฒนา 'เซนเซอร์จับสัมผัส-กลิ่น' หนุนงานกู้ภัยในความมืด
ข่าววันนี้ เซี่ยงไฮ้, 18 ม.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยของจีนพัฒนาเซนเซอร์แบบอะเรย์ (sensing array) สำหรับตรวจจับการสัมผัสและรับกลิ่น เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกแก่งานค้นหาและกู้ภัยในความมืดหรือสภาพแวดล้อมถูกฝังกลบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรณีวิทยา
การออกแบบเซนเซอร์แบบชีวจักรกลดังกล่าว ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากระบบรวมการรับรู้ตามธรรมชาติของตุ่นจมูกดาว ช่วยสนับสนุนการสำรวจสภาพภูมิประเทศ ความแข็ง และกลิ่นของวัตถุต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถมองเห็นได้แบบเรียลไทม์ โดยตุ่นจมูกดาวพัฒนาความสามารถรับรู้วัตถุด้วยการสัมผัสและการดมกลิ่น เพื่ออยู่รอดในสภาพแวดล้อมใต้ดินที่ไม่มีแสง
บทความวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อไม่นานนี้ในวารสารเนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) ระบุว่าข้อมูลการสัมผัสและรับกลิ่นถูกประมวลผลโดยอัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่องจักรที่ได้แรงบันดาลใจจากชีวภาพ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วจะเลียนแบบขั้นตอนการหลอมรวมทางชีววิทยาในระบบประสาทของตุ่นจมูกดาว
ระบบเซนเซอร์ตรวจจับการสัมผัสและรับกลิ่นอัจฉริยะสามารถจำแนกวัตถุทั่วไป 11 ชิ้น ด้วยความแม่นยำร้อยละ 96.9 ในสถานการณ์จำลองการกู้ภัยของหน่วยดับเพลิง โดยไม่จำเป็นต้องป้อนข้อมูลภาพ และมีความทนทานการรบกวนจากสภาพแวดล้อมโดยรอบได้ดี
ทั้งนี้ เซนเซอร์แบบอะเรย์สำหรับตรวจจับแบบชีวจักรกลนี้พัฒนาโดยคณะนักวิจัยจากสถาบันระบบไมโครและเทคโนโลยีสารสนเทศเซี่ยงไฮ้ (SIMIT) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS)