รีเซต

หมอแนะเหนื่อยง่ายหลังติดโควิด รีบเช็กปอด ห่วงออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ต้องรีบรักษา

หมอแนะเหนื่อยง่ายหลังติดโควิด รีบเช็กปอด ห่วงออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ต้องรีบรักษา
มติชน
6 พฤษภาคม 2565 ( 13:11 )
98

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2565) รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการดูแลปอดในผู้ที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 ว่า ในการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ซึ่งพบว่า อาการปอดอักเสบ อัตราการเสียชีวิต และการเกิดอาการต่อเนื่องหลังพ้นภาวะติดเชื้อลดลงจากเชื้อสายพันธุ์เดลต้าถึง 10 เท่า ดังนั้น การดูแลหลักๆ จะใช้ระบบรักษาที่บ้าน (HI) ทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ได้เอกซเรย์ปอดในทุกราย แต่คัดกรองด้วยประวัติและอาการ อย่างไรก็ตาม เชื้อโอมิครอนที่พบผู้ป่วยปอดอักเสบน้อยลง เนื่องจากปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันมากขึ้น พบว่า คนที่หายจากโควิด-19 ที่ไม่ได้เอกซเรย์ปอดบางราย มีอาการเหนื่อยง่ายขึ้น แต่ต้องแยกใน 2 กรณี ว่าเกิดจากสาเหตุใด

 

“1.อาการทางใจ ส่วนนี้เราอาจต้องหาอาการทางกายให้ได้ว่ามีหรือไม่ หากไม่มี เราก็สามารถบอกได้ว่าไม่เกิดปัญหาอะไร อาการทางใจก็จะดีขึ้น 2.อาการทางกาย โดยทั่วไป เราจะเรียกว่า อาการหลังโควิด เกิดขึ้นภายใน 4 สัปดาห์ ส่วนอาการลองโควิด จะเกิดหลังจากหายป่วย 1-3 เดือน ส่วนต้องใช้อุปกรณ์ทั้งเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เครื่องวัดชีพจร” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

 

ทั้งนี้ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า วิธีทดสอบ คือ ถอดหน้ากากอนามัย แล้วเดินเร็ว 1-2 นาที หลังจากนั้นจะมาดูความเปลี่ยนแปลง เช่น บางรายที่พบปัญหาชีพจรเร็วขึ้นอยู่ที่ 100-120 ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าร้อยละ 94 กรณีนี้ ต้องพึ่งพาแพทย์เพื่อให้ยารักษาร่วมด้วย

 

“ค่าออกซิเจนในเลือดคนปกติ ควรมากกว่าร้อยละ 94 ขึ้นไป แต่คนที่ถือว่าเหนื่อย คือ แค่อยู่เฉยๆ ก็ค่าต่ำกว่า ร้อยละ 94 แล้วหลังออกกำลังก็จะลดลงไปอีกเหลือร้อยละ 92 เป็นต้น ดังนั้น หลังหายจากโควิด-19 แล้ว เราควรตรวจเช็กให้แน่ๆ ว่า อาการเหนื่อยเกิดจากอะไร เพราะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้หลังหายป่วยจากเชื้อไวรัส ที่ทำให้ร่างกายเราไม่ปกติ แต่เราต้องพยายามทำให้ร่างกายฟื้นกลับมา” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่หายจากโควิด-19 รวมถึงคนทั่วไปที่ไม่ได้ติดเชื้อ ควรบริหารกล้ามเนื้อในการหายใจ ซึ่งจะใช้เวลาฟื้นฟูต่างกันไป ขั้นตอนตามลำดับ 1.สูดหายใจเข้าลึกๆ 2.ห่อปากให้เล็กที่สุด 3.ระบายเป่าลมออกทางปากอย่างช้าๆ ยาวๆ จนหมด 4.กลั้นหายใจนิ่งสักครู่ และ 5.หายใจได้ตามปกติ โดยให้ทำซ้ำๆ เป็นประจำ

 

“การบริหารการหายใจ จะช่วยทำให้เนื้อปอด เส้นเลือดเล็กๆ ในปอดที่สูญเสียจากโควิด-19 ค่อยๆ กลับมาคืนตัว ขณะเดียวกัน การออกกำลังกายหลังจากเพิ่งหายติดเชื้อ แนะนำกิจกรรมที่ไม่เหนื่อยมาก เช่น การฝึกหายใจ โยคะ ยืดเหยียด ว่ายน้ำ เอโรบิก ฯลฯ ขอให้เลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้หายใจหอบเหนื่อย เช่น เตะฟุตบอล” รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง