“โฮมโปร” อวดรายได้ 64 กว่า 6.3 หมื่นล. ฟันกำไร 5.4 พันล. อานิสงส์เพิ่มช่องทางขายออนไลน์
นายคุณวุฒิ ธรรมพรหมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ประจำปี 2564 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 63,925.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,176.80 ล้านบาท หรือ 3.53% โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,440.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 285.82 ล้านบาท หรือ 5.54% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้ประกอบด้วย รายได้จากการขายสินค้า และรายได้จากการให้บริการลูกค้า (Home Service) รวมจำนวน 60,567.91 ล้านบาท ปรับตัวขึ้น 2,221.14 ล้านบาท หรือ 3.81%
โดยทั้งปี 2020 และ 2021 มีผลกระทบจากมาตรการปิดสาขาชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้ปรับตัว และพัฒนาปรับปรุง ทั้งสินค้า และบริการ ให้สอดรับกับวิถีชีวิตแบบใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน บริการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้สามารถทำงานที่บ้านได้ รวมถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ในช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้า และบริการภายใต้ Omni Channel Platform ส่งผลทำให้ยอดขายสาขาเดิม ยอดขายออนไลน์ และรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ยอดขายสาขาเดิมของประเทศมาเลเซีย ที่ยังหดตัวจากการปิดสาขา และมีมาตรการควบคุมการเข้าใช้บริการที่มีช่วงระยะเวลานานกว่า เมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้บริษัทมีกำไรขั้นต้นจากการขายสินค้า และการให้บริการลูกค้า Home Service รวมจำนวน 15,642.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 894.02 ล้านบาท หรือ 6.06% เมื่อเทียบกับปีก่อน จำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากยอดขายสินค้า และบริการที่เติบโตขึ้น และจากการเพิ่มขึ้นของสินค้ากลุ่มที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง เช่น สินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ และสินค้ากลุ่มปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ที่เพิ่มตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงบริษัทฯ มีการบริหารจัดการต้นทุนสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้อัตรากำไรขั้นต้นต่อยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 25.28% ในปีก่อน มาอยู่ที่ 25.83%
นายคุณวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับในช่วงไตรมาส 4 ภาครัฐยังได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงได้กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง ขณะเดียวกันดัชนีราคาสินค้าเกษตรก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 จึงช่วยเพิ่มกำลังซื้อในพื้นที่ที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวและการเกษตร เช่น พื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้มีการเติบโตที่ดีขึ้น รวมถึงบริษัทฯ ได้จัดงาน ส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เช่น งาน Homepro Day และ Homepro Super Expo และกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่องทางออนไลน์ต่างๆ
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ลูกค้าไม่สามารถเลือกซื้อสินค้าที่สาขาได้ตามปกติ ทำให้ลูกค้าเลือกหันมาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทฯ มากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ จึงให้ความสำคัญในการพัฒนากระบวนการที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการและการใช้งานของลูกค้ามากขึ้น ผ่าน 3 แอปพลิเคชั่น ได้แก่ HomePro Application, Home Service Application และ Home Card Application รวมถึงช่องทาง Omni Channel และพัฒนาการให้บริการช่วยเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Shop4U โดยนอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกด้วยบริการขนส่งสินค้าภายในวันที่มีการสั่งซื้อ (Same Day Delivery) หรือจะเลือกมารับสินค้าที่สาขา (Click and Collect) โดยช่องทางเหล่านี้มีความยืดหยุ่นสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบของการแพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที
โฮมโปร ยังได้มีการพัฒนาสินค้า และบริการเพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ที่มีความต้องการด้านสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอยู่บ้านมากขึ้น โดยเพิ่มความหลากหลายของสินค้า เช่น กลุ่มสินค้าที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ และด้านสุขอนามัย กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน หรือกลุ่มสินค้าสำหรับทำอาหารที่บ้าน ตลอดจนการพัฒนาสินค้าและบริการ ร่วมกับคู่ค้าโดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสนใจในประเด็นนี้มากขึ้น
นายคุณวุฒิ กล่าวอีกว่า ในส่วนด้านงานบริการ บริษัทฯ พัฒนาแอปพลิเคชั่น Home Service ที่มีงานบริการเกี่ยวกับบ้านอย่างครบครัน ด้วยทีมงานมืออาชีพ สามารถเรียกใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น ไฟดับ แอร์ไม่เย็น น้ำไม่ไหล เพียงติดต่อผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่นหรือผ่านช่องทาง Call Center และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในการเข้าบริการ ทีมช่างจะได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ด้วยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ก่อนการให้บริการ
“บริษัทฯ ยังมีกลยุทธ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน และสร้างเสถียรภาพให้กับระบบกระจายสินค้าให้สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบริษัทฯ มีมาตรการบริหารจัดการ ป้องกันและควบคุมโรค ในที่ศูนย์กระจายสินค้า (Bubble and Seal) ที่เป็นการจำกัดพื้นที่โดยการแยกผู้ที่ติดเชื้อไปรักษา และกักกันผู้สัมผัสกลุ่มเสี่ยง ซึ่งช่วยให้สามารถควบคุมผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และลดการแพร่ระบาดในวงกว้าง นอกจากนี้ในช่วงที่ขาดแคลนสถานพยาบาล และการให้บริการสาธารณสุข บริษัทฯ ได้สร้างโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าวังน้อย โดยบริหารร่วมกับโรงพยาบาลราชธานี เพื่อรักษาชีวิตของพนักงาน และขยายความช่วยเหลือไปยังผู้ป่วยในชุมชนรอบข้างอีกด้วย” นายคุณวุฒิ กล่าว