รีเซต

เตรียมหยุดยาวเข้าพรรษากับประวัติพุทธศาสนาอันยาวนาน

เตรียมหยุดยาวเข้าพรรษากับประวัติพุทธศาสนาอันยาวนาน
TrueID
3 กรกฎาคม 2563 ( 12:00 )
295
เตรียมหยุดยาวเข้าพรรษากับประวัติพุทธศาสนาอันยาวนาน

 

ใกล้วันหยุดยาวเข้าพรรษาหลาย ๆ ครอบครัวเตรียมตัวที่จะไปเที่ยวทำบุญด้วยกัน ซึ่งวันเข้าพรรษาถือเป็นอีกวันที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะเป็นวันที่คนไทยส่วนใหญจะเข้าวัดทำบุญทุกครั้ง สำหรับ วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์จะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า "จำพรรษา" นั่นเอง

 

การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน และจะสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ที่เรียกว่าวันออกพรรษา โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) และการเข้าพรรษาตามพระวินัยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

  • ปุริมพรรษา หรือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 สำหรับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
  • ปัจฉิมพรรษา หรือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน

 

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมา ยังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ แต่การเข้าพรรษายังมีข้อยกเว้นให้กับพระภิกษุที่จำพรรษาที่อื่นได้ โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน 7 วัน ได้แก่

 

  1. การไปรักษาพยาบาล หาอาหารให้ภิกษุหรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย เป็นต้น กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5 และมารดาบิดา
  2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ กรณีนี้ทำได้กับสหธรรมิก 5
  3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด หรือ การไปทำสังฆกรรม เช่น สวดญัตติจตุตถกรรมวาจาให้พระผู้ต้องการอยู่ปริวาส เป็นต้น
  4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปให้ทายกได้ให้ทาน รับศีล ฟังเทสนาธรรมได้ กรณีนี้หากโยมไม่มานิมนต์ ก็จะไปค้างไม่ได้.

 

และถึงวันเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่ก็เป็นการให้ประชาชนมีโอกาสได้ทำบุญรักษาศีล พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ อีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง