หุ่นยนต์โอริกามิ พับ-ขยายได้ตามใจสั่ง สำหรับงานในอวกาศและพื้นที่แคบ
สถาบัน อีพีเอฟแอล (EPFL-Ecole Polytechnique Fédérale de Lausanne) สถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสวิตเซอร์แลนด์ ได้นำเอาศิลปะ ‘โอริกามิ’ ศิลปะการพับกระดาษเก่าแก่ของญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้แบบผสมผสานกับหุ่นยนต์ตัวใหม่ของบริษัท จนกลายเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถบิดและพับตัวเองเป็นรูปทรง 3 มิติต่าง ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ
โดยเจ้าหุ่นยนต์บิดพับได้ตัวใหม่นี้มีชื่อว่า โมริ 3 (Mori 3) เป็นหุ่นยนต์ที่มีรูปร่างพื้นฐานเป็นทรงเรขาคณิต และมีขาแต่ละขาเป็นรูป 3 เหลี่ยม โดยแรกเริ่มตอนยังไม่ทำงาน โมริ 3 จะมีลักษณะรูปร่างเป็นทรง 3 เหลี่ยมแบนราบ แต่ทันทีที่เริ่มต้นระบบ โมริ 3 ก็จะบิดตัวเองสู่หลากหลายรูปทรง ทำให้ทั้งเดิน ม้วนตัว กลิ้ง และเคลื่อนไหวในหลากหลายรูปแบบได้อย่างคล่องแคล่ว
คริสตอฟ เบลเก้ (Christoph Belke) นักวิจัยระดับโพสต์-ดอคเตอร์ (Post-Doctor) ด้านวิทยาการหุ่นยนต์ที่สถาบันอีพีเอฟแอล และหนึ่งในผู้ร่วมประดิษฐ์หุ่นยนต์โมริ 3 กล่าวในแถลงการณ์ว่า หุ่นยนต์ตัวนี้เป็นตัวอย่างของการ “คิดแบบใหม่” (Rethink) เพื่อประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้นมา
ทีมผู้สร้างโมริ 3 ยังกล่าวว่า เป้าหมายหลักในการสร้างโมริ 3 คือการพยายามให้กำเนิดหุ่นยนต์แบบแยกชิ้นส่วนได้ที่มีลักษณะคล้ายกระดาษโอริกามิ ซึ่งสามารถประกอบและถอดประกอบได้ตามสภาพแวดล้อมและงานที่มอบหมาย นอกจากนั้น โมริ 3 ยังเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับการช่วยเหลือนักบินอวกาศในพื้นที่ที่คับแคบของยานอวกาศ หรือในกระสวยอวกาศที่อาจไม่มีที่ว่างสำหรับบรรทุกหุ่นยนต์ประเภทต่าง ๆ ความสามารถในการแบนราบตัวเองของโมริ 3 จึงเกิดมาเพื่อตอบโจทย์งานที่มีขีดจำกัดด้านพื้นที่ เช่นการขนอุปกรณ์ไปตั้งรกรากอาณานิคมมนุษย์บนดวงจันทร์
ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว โมริ 3 จะสามารถทำงานด้วยตนเองได้แบบอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม มันยังสามารถสื่อสารและโต้ตอบกับหุ่นยนต์ใกล้เคียง เพื่อรวมตัวกันเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนได้ ซึ่งทีมผู้สร้างกำลังทดสอบว่า การนำเอาหุ่นยนต์โมริ 3 อีกหลายตัวมาเชื่อมต่อกัน จะสามารถพัฒนาเพื่อเพิ่มความสามารถของหุ่นยนต์ให้เหมาะสมกับงานรูปแบบใดได้บ้างในอนาคต
ที่มาของข้อมูล Futurism
ที่มาของรูปภาพ EPFL