รีเซต

แบงก์ชาติ-ธนาคารกลางมาเลเซีย ขยายความร่วมมือชำระเงิน 'ริงกิต-บาท' เริ่ม 1 ธ.ค. นี้

แบงก์ชาติ-ธนาคารกลางมาเลเซีย ขยายความร่วมมือชำระเงิน 'ริงกิต-บาท' เริ่ม 1 ธ.ค. นี้
มติชน
26 ตุลาคม 2564 ( 17:20 )
51
แบงก์ชาติ-ธนาคารกลางมาเลเซีย ขยายความร่วมมือชำระเงิน 'ริงกิต-บาท' เริ่ม 1 ธ.ค. นี้

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia: BNM) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมประกาศการขยายขอบเขตของกลไกการชำระเงินสกุลริงกิต – บาท (ringgit – baht settlement framework) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 โดยการขยายความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศมาเลเซียและไทย

 

การขยายขอบเขตของกลไกการชำระเงินสกุลริงกิต-บาทในครั้งนี้ จะขยายกลุ่มผู้ใช้บริการ
ให้ครอบคลุมชาวไทยที่พำนักในมาเลเซีย และชาวมาเลเซียที่พำนักในไทย รวมถึงมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มเติม เช่น เกณฑ์การเรียกเอกสารให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นต้น

 

ในโอกาสนี้ นายอับดุล ราชีด กาฟโฟร์ รองผู้ว่าการธนาคารกลางมาเลเซีย กล่าวว่า การขยายขอบเขตของกลไกการชำระเงินครั้งนี้ จะช่วยให้บุคคลธรรดาและภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศสามารถใช้เงินริงกิต หรือเงินบาทในการทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศในระยะต่อไป

 

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การขยายขอบเขตของกลไกการชำระเงินสกุล
ริงกิต – บาทครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนและภาคธุรกิจในมาเลเซียและไทย ช่วยส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดน อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างสองประเทศที่เริ่มให้บริการไปในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. เชื่อว่าการขยายขอบเขตของกลไกดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นและการรวมกลุ่มทางการเงินภายในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

กลไกความร่วมมือระหว่างไทยและมาเลเซียนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2559 ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารกลางมาเลเซีย และ ธปท. ว่าด้วยการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่นที่มีการลงนามเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 และได้ขยายความร่วมมือครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2561

ในการนี้ ธนาคารกลางมาเลเซีย และ ธปท. ได้ร่วมกันคัดเลือกธนาคารพาณิชย์จากทั้งสองประเทศ เพื่อดำเนินการภายใต้กลไกการชำระเงินสกุลริงกิต-บาท โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณาเข้าร่วม ได้แก่ เงินกองทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ประสบการณ์การให้บริการด้านการค้าและการลงทุนโดยตรงระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงการมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่เข้มแข็งกับธนาคารพาณิชย์ในอีกประเทศหนึ่ง ดังรายนามต่อไปนี้

ธนาคารพาณิชย์ในมาเลเซีย

• รายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติม
– HSBC Bank Malaysia Berhad
– Standard Chartered Bank Malaysia Berhad

• รายชื่อธนาคารพาณิชย์เดิมที่ได้รับการแต่งตั้ง
– Bangkok Bank Berhad
– CIMB Bank Berhad
– Malayan Banking Berhad
– MUFG Bank (Malaysia) Berhad
– Public Bank Berhad
– RHB Bank Berhad
– United Overseas Bank (Malaysia) Berhad

ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

• รายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติม
– ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด สาขากรุงเทพฯ
– ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)

• รายชื่อธนาคารพาณิชย์เดิมที่ได้รับการแต่งตั้ง
– ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
– ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง