เข้าฤดูแล้ง! ชาวนาปลูกพริก สร้างรายได้เสริม เกษตรเมืองยางหนุนลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต
นครราชสีมา ชาวนานางโท ปลูกพริกสร้างรายได้เสริมช่วงหน้าแล้ง เกษตรอำเภอเมืองยาง หนุนใช้สารชีวภัณฑ์ควบคุมโรคพืชในพริก แทนสารเคมี ช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต
วันที่ 9 มีนาคม 2565 นายจารพัฒน์ ไตรพัฒนจันทร์ รักษาการเกษตรอำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองยาง ลงพื้นที่สาธิต ส่งเสริมความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องการนำเชื้อราไตรโคเดอร์มา ใช้ป้องกันกำจัดโรคพืชผักให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริก บ้านนางโท หมู่ที่ 8 ตำบลเมืองยาง อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้สมาชิกในกลุ่มจำนวน 17 คน เพาะปลูกบนพื้นที่ใกล้หนองน้ำนางโท จำนวน 20 ไร่ โดยปลูกพริกเป็นอาชีพเสริมช่วงหน้าแล้ง ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน นอกเหนือจากการทำนา เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำและคลองชลประทาน จึงไม่สามารถปลูกข้าวนาปรังได้ เกษตรกรจึงหารายได้เสริมด้วยการปลูกพริก
ส่วนพันธุ์พริกที่ปลูก พันธุ์อัมพวา อัมพวาโกล เงินด่วน ซุปเปอร์ฮอต และพันธุ์พื้นบ้าน ได้ผลผลิตพริกสดเฉลี่ย 90-100 กิโลกรัม ต่อ 1 งาน นำไปจำหน่ายทั้งพริกสดและแปรรูป โดยราคาพริกสด กิโลกรัมละ 50 บาท พริกแห้ง กิโลกรัมละ 120-150 บาท พริกป่น ราคากิโลกรัมละ 200 บาท ส่งขายตลาดพื้นที่และนอกพื้นที่ ถือว่าช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เข้ามาเสริมในช่วงหน้าแล้งนี้
นายจารพัฒน์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่ออบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกพริก พร้อมแนะนำเกษตรกรรู้จักนำเชื้อราไตรโคเดอร์มา มาใช้ป้องกันกำจัดโรคพืชผักแทนการใช้สารเคมี ช่วยลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร
สำหรับเชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืชซากสัตว์และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด สร้างเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนขยายพันธุ์ ที่เรียกว่า “โคนิเดีย” หรือ “สปอร์” จำนวนมาก รวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีเขียว
ซึ่งเชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นศัตรูหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิด โดยเชื้อราไตรโคเดอร์มา จะใช้วิธีเบียดเบียนหรือเป็นปรสิตแข่งขัน หรือแย่งใช้อาหารที่เชื้อโรคต้องการ
นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตปฏิชีวนสารและสารพิษ ตลอดจน น้ำย่อยหรือเอนไซม์ สำหรับช่วยละลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืชได้ด้วย ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของเชื้อราไตรโคเดอร์มา คือ สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
ดังนั้น จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคพืช ทั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุของโรคได้” นายจารพัฒน์ ฯ กล่าว