รีเซต

TU กำไร Q3/67 ที่ 1,400.22 ลบ. เติบโต 16.11% ,อัตรากำไรขั้นต้น 19.5%

TU กำไร Q3/67 ที่ 1,400.22 ลบ. เติบโต 16.11% ,อัตรากำไรขั้นต้น 19.5%
ทันหุ้น
6 พฤศจิกายน 2567 ( 13:24 )
18

#TU #ทันหุ้น-บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าไตรมาส 3/67 มีกำไร 1,400.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไร 1,205.92 ล้านบาท ซึ่งกำไรเติบโตอย่างแข็งแกร่งเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ทั้งนี้หากไม่รวม transformation costs กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญที่ 21.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 1,634 ล้านบาท

 

ส่วนยอดขายไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 34,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการดำเนินงานปกติที่เพิ่มขึ้น 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบเชิงลบต่อยอดขายรวมเล็กน้อยที่ 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นสูงสุดที่ 19.5% เนื่องจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อในหลายภูมิภาคและราคาวัตถุดิบที่ลดลง

TU รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ประจำปี 2567 ด้วยอัตรากำไรสุทธิที่ 1,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วในไตรมาส 3 ปี 2566 ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นแตะระดับสูงสุดที่ 19.5% จากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรต่อหุ้นปรับตัวแข็งแกร่งถึง 8.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็น 0.30 บาทต่อหุ้น สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดีขึ้นใน 3 ธุรกิจหลัก คือ กลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง  กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ

 

เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตในไตรมาส 3 ปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ไทยยูเนี่ยนสามารถทำผลงานได้อย่างดี โดยมียอดขายอยู่ที่ 34,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% โดยเป็นผลจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ ขณะที่ปริมาณการขายยังขยายตัวแข็งแกร่งถึง 10.4% จากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มธุรกิจสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ 

 

นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นขยายตัวสูงสุดที่ 19.5% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงเหนือระดับ 30% ต่อเนื่อง 2 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากการมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง ขณะเดียวกัน อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปและอาหารทะเลแช่แข็งก็ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเช่นกัน

 

นอกจากนี้ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ไทยยูเนี่ยนจะแถลงข่าวเปิดตัวกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 มุ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก สร้างคลื่นลูกใหม่ของการเติบโต พร้อมเปิดน่านน้ำใหม่สู่ความสำเร็จในอนาคตผ่านสองโปรเจกต์ ได้แก่ โปรเจกต์ Sonar ที่มุ่งวางรากฐานให้แข็งแกร่ง และโปรเจกต์ Tailwind ที่มุ่งเร่งการเติบโตในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง โดยทั้งสองโปรเจกต์จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคตให้กับบริษัท

 

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสสามปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง จากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 0.79 เท่า โดยปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสสองที่ 0.82 เท่า ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA อยู่ที่ระดับ 3.59 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงความพร้อมและความสามารถในการปรับตัวของไทยยูเนี่ยนในการแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการคงอันดับความน่าเชื่อถือจากทริส เรทติ้ง ที่ระดับ “A+” อีกด้วย

 

“การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ นำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ดีในไตรมาสที่ผ่านมา และเรายังคงมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 หรือ Strategy 2030 ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวของเรา ที่จะช่วยให้เรามั่นใจว่าจะเดินหน้าสร้างมูลค่าและก้าวสู่การเป็นผู้นำของโลกในอุุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุุขภาพจากท้องทะเล” นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว

 

จากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของความต้องการซื้อในไตรมาส 3 ส่งผลให้ยอดขายกลุ่มสินค้าอาหารทะเลแปรรูป อยู่ที่ 17,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ประกอบกับปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับสถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป เพิ่มขึ้นเป็น 20.1% 

 

ขณะที่ยอดขายกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง อยู่ที่ 4,352 ล้านบาท หรือเติบโต 15.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นผลจากกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมียม รวมถึงปริมาณความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่องในตลาดหลัก 

เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวดีถึง 30.6% ส่วนกลุ่มสินค้าเพิ่มมูลค่าและอื่น ๆ  ทำยอดขายได้ 2,732 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเติบโตจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์ สินค้าเพิ่มมูลค่า และผลิตภัณฑ์พลอยได้

 

ในทางกลับกันแม้ว่าธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งจะปรับตัวลดลง 15.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากกำลังซื้อที่ชะลอตัวในสหรัฐอเมริกา แต่อัตรากำไรขั้นต้นยังคงอยู่ที่ 12% อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำและสัตว์บกของไทยยูเนี่ยน ที่อยู่ภายใต้ธุรกิจอาหารแช่แข็งได้มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในไตรมาสที่ผ่านมาสามารถสร้างยอดขายได้ 1,390 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตถึง 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของอาหารกุ้งในประเทศอินโดนีเซีย ส่งผลให้ธุรกิจอาหารสัตว์มีอัตรากำไรขั้นต้นถึง 19.2% สะท้อนถึงความสำเร็จของกลยุทธ์การเพิ่มสัดส่วนสินค้าที่มีความสามารถในการทำกำไรให้มากขึ้น

 

 ทั้งนี้ สัดส่วนยอดขายของไทยยูเนี่ยนตามภูมิภาคในไตรมาส 3 ปี 2567 มาจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คิดเป็น 38.3% ของรายได้รวมทั้งหมด รองลงมาเป็น ยุโรป 29.3% ประเทศไทย 11.5% และอื่น ๆ อีก 20.9%

 

 นอกจากผลประกอบการที่ดีแล้ว ไทยยูเนี่ยนยังมีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตในอนาคต ล่าสุดเราได้เปิดศูนย์นวัตกรรม Innovation Hub อย่างเป็นทางการ ณ เมืองวาเกนิงเงน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อขยายเครือข่ายนวัตกรรมระดับโลกของบริษัทให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์นวัตกรรมแห่งใหม่นี้ มีนักวิทยาศาสตร์กว่า 20 คน มุ่งเน้นไปที่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สำหรับแบรนด์อาหารทะเลแปรรูปของกลุ่มบริษัท

 

“เราไม่ได้มุ่งเพียงแค่การเติบโต แต่การเดินหน้ากลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ภายใต้คอนเซปต์ Turning the Tides ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 คือการสร้างรากฐานเพื่อธุรกิจในระยะยาวเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล เราเชื่อมั่นว่าความตั้งใจและความมุ่งมั่นในครั้งนี้จะสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม นับเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของเราไปทั่วโลก” นายธีรพงศ์ กล่าว

 

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง