รีเซต

ผืนโลกเตรียมย้อนเวลา กลับไปเป็นมหาทวีปเหมือน "แพนเจีย" ในอีก 200 ล้านปีข้างหน้า

ผืนโลกเตรียมย้อนเวลา กลับไปเป็นมหาทวีปเหมือน "แพนเจีย" ในอีก 200 ล้านปีข้างหน้า
ข่าวสด
23 ธันวาคม 2563 ( 01:55 )
55
ผืนโลกเตรียมย้อนเวลา กลับไปเป็นมหาทวีปเหมือน "แพนเจีย" ในอีก 200 ล้านปีข้างหน้า

ในยุคดึกดำบรรพ์เมื่อกว่า 1.6 พันล้านปีที่แล้วถึงราว 300 ล้านปีก่อน แผ่นดินโลกเคยรวมตัวกันเป็นผืนเดียวหรือ "มหาทวีป" (supercontinent) มาแล้วหลายครั้ง ก่อนจะแตกแยกออกเป็นทวีปย่อยและกลับรวมเข้าด้วยกันอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งในอนาคตอีกอย่างน้อย 200 ล้านปีนับจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำนายว่าแผ่นดินโลกก็จะรวมตัวเข้าเป็นมหาทวีปเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง

 

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และโปรตุเกส รายงานผลการศึกษาข้างต้นในงานประชุมประจำปีของสหภาพวิชาการด้านธรณีฟิสิกส์อเมริกัน (AGU) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ศึกษาถึงความเป็นไปได้ของสภาพทางธรณีวิทยาทั่วโลก ซึ่งจะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในอนาคตอันห่างไกลระดับหลายร้อยล้านปี

 

Getty Images

 

ผลการศึกษาพบว่า มีแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้อยู่สองแบบ โดยแบบแรกคือแผ่นดินโลกเกือบทั้งหมดถูกผลักให้ขึ้นไปรวมกันอยู่รอบขั้วโลกเหนือ เว้นแต่ทวีปแอนตาร์กติกาที่จะยังคงอยู่ในซีกโลกใต้ ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ภายในเวลา 200 ล้านปีนับจากนี้

 

ความเป็นไปได้อีกทางหนึ่งคือเกิดการรวมตัวเป็นมหาทวีปบริเวณโดยรอบเส้นศูนย์สูตร โดยมีผืนแผ่นดินเดียวครอบคลุมทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีก 250 ล้านปีข้างหน้า

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือการเกิดมหาทวีปแบบแรก ซึ่งทีมผู้วิจัยให้ชื่อว่า "อามาเซีย" (Amasia) เพราะหากมหาทวีปในอนาคตนี้มีเทือกเขาสูงจำนวนมากแทนที่จะเป็นพื้นราบ สภาพภูมิประเทศแบบใหม่จะส่งผลให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไป เพราะความร้อนที่กระแสน้ำในมหาสมุทรนำพามาจะไม่สามารถเข้าถึงแผ่นดินใหญ่ได้ จนพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกจะมีอุณหภูมิลดต่ำลงเหลือราว 4 องศาเซลเซียส

 

สภาพการณ์ดังกล่าวอาจทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็งครั้งใหม่ที่ยาวนานเป็นพิเศษ ซึ่งอาจกินเวลาถึง 150 ล้านปีได้ ในขณะที่การเกิดมหาทวีปแบบที่สองหรือที่ทีมผู้วิจัยให้ชื่อว่า "ออริกา" (Aurica) จะไม่เป็นเช่นนั้น

 

SCIENCE PHOTO LIBRARY / COSMOS
เมื่อกว่า 2.5 พันล้านปีก่อน โลกอยู่ในยุค "ลูกบอลหิมะ" โดยมีอุณหภูมิต่ำจนน้ำแข็งเกาะทั่วทั้งผืนโลก

 

การทำนายความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในอนาคตครั้งนี้ ได้นำเอาข้อมูลอื่น ๆ นอกจากสภาพภูมิประเทศที่เปลี่ยนไปเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย เช่นความสว่างจ้าของแสงอาทิตย์ที่จะต้องร้อนแรงขึ้นกว่าในปัจจุบัน และคาบการหมุนของโลกที่ช้าลงเรื่อย ๆ จนทำให้เวลาในหนึ่งวันเพิ่มขึ้นราว 30 นาที ในอีก 200 ล้านปีข้างหน้า

 

ความรู้ทางธรณีวิทยาที่มีมาก่อนหน้านี้ระบุว่า มหาทวีปที่เกิดขึ้นครั้งหลังสุดก่อนแผ่นดินจะแยกออกเป็นทวีปต่าง ๆ เช่นในปัจจุบัน ได้แก่มหาทวีป "แพนเจีย" (Pangaea) ซึ่งมีอยู่เมื่อราว 300 ล้าน - 200 ล้านปีก่อน ส่วนมหาทวีปที่เก่าแก่กว่านั้นคือ "โรดิเนีย" (Rodinia) ซึ่งมีอยู่เมื่อ 700 ล้านปีที่แล้ว และมหาทวีป "นูนา" (Nuna) ซึ่งก่อตัวขึ้นเมื่อ 1.6 พันล้านปีก่อน และแยกออกจากกันในอีก 200 ล้านปีต่อมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง