รีเซต

วิบากกรรมทีวีดิจิทัล สาละวนปัญหา "เรียง-ไม่เรียงช่องใหม่"

วิบากกรรมทีวีดิจิทัล สาละวนปัญหา "เรียง-ไม่เรียงช่องใหม่"
มติชน
24 สิงหาคม 2563 ( 11:13 )
262

คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นความถี่ที่บ้านเราใช้ในกิจการทีวีดิจิทัล แต่ด้วยคุณสมบัติที่รองรับความครอบคลุมของสัญญาณเป็นบริเวณกว้าง เพราะเป็นย่านความถี่ต่ำ (โลแบนด์) หรือย่านความถี่ต่ำกว่า 1 กิกะเฮิรตซ์ ทำให้ในหลายประเทศได้นำมาใช้ในกิจการโทรคมนาคม ดังนั้น ประเทศไทยจึงอยู่ระหว่างการปรับปรุงคลื่นความถี่บางส่วน เพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคมเช่นกัน

 

รีฟาร์มคลื่น 700 ใช้ในโทรคมนาคม

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำโดย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. จึงตั้งโต๊ะแถลงแนวทางการปรับปรุงโครงข่าย โดยระบุว่า ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563 ทีวีดิจิทัลซึ่งมีจำนวนผู้ชมคิดเป็น 45-50% ของจำนวนผู้รับชมทีวีทั้งหมด จะไม่สามารถรับชมได้ในบางพื้นที่ กินเวลารวม 8 ชั่วโมง โดยประชาชนต้องทำการปรับจูนกล่องรับสัญญาณ หรือเซตท็อปบ็อกซ์ หรือดิจิทัลทีวีเองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้กลับมารับชมได้อีกครั้ง

 

สำหรับพื้นที่ที่ต้องทำการปรับจูนกล่องเซตท็อปบ็อกซ์ แบ่งเป็น พื้นที่ภาคใต้เริ่มเดือนกันยายน 2563, พื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและบริเวณใกล้เคียง เริ่มวันที่ 5 ตุลาคม 2563, พื้นที่ภาคเหนือเริ่มเดือนตุลาคม 2563, พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเดือนพฤศจิกายน 2563 และพื้นที่ภาคกลางเริ่มเดือนธันวาคม 2563 แต่พื้นที่ภาคกลางในต่างจังหวัดสามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ส่วนกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียง สามารถปรับจูนสัญญาณได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป

 

โดยขั้นแรกต้องตรวจสอบก่อนว่าที่บ้านรับสัญญาณดิจิทัลทีวีหรือไม่ ซึ่งการรับสัญญาณดิจิทัลทีวีจะใช้เสาก้างปลาหรือหนวดกุ้งในการรับสัญญาณไม่ได้ใช้จานรับสัญญาณสี จากนั้นทำการปรับจูน โดยมี 4 ขั้นตอนได้แก่ 1.กดเมนูบนรีโมต 2.เลือกคำว่าตั้งค่าหรือติดตั้ง 3.เลือกคำว่าค้นหาอัตโนมัติและ 4.เลือก OK หรือคำว่าค้นหา เมื่อสัญญาณกลับมาก็จะทำให้สามารถรับชมดิจิทัลทีวีได้อีกครั้ง

 

จากนั้นคาดว่าปี 2564 จะเข้าที่เข้าทางและทยอยแบ่งสรรปันส่วนให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่ชนะการประมูลได้ โดยล็อตแรกเป็นของ 3 ราย รายละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ได้แก่ “เอไอเอส” หรือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), “ทรู” หรือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ “ดีแทค” หรือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่จำใจเข้าประมูล เพื่อแลกกับการขยายระยะเวลาจ่ายหนี้ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ และล็อตสองของ 2 ราย ที่เข้าประมูลเพื่อรองรับ 5G ได้แก่ “แคท” หรือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 10 เมกะเฮิรตซ์ และเอไอเอส 5 เมกะเฮิรตซ์

 

ผู้บริโภคหันพึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์

ฝั่งกิจการโทรคมนาคมดูจะไปได้ดี แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะกระทบบ้าง แต่ไม่ถึงกับจุก ขณะที่กิจการทีวีดิจิทัล ที่แม้การประมูลเมื่อปลายปี 2556 ประสบความสำเร็จอย่างมาก สร้างรายได้เป็นกระบุงโกยถึง 50,000 ล้านบาท แต่ภาพบรรยากาศแห่งความยินดีหลังการประมูลไม่ทันจางหาย ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่หวังว่าจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเป็นเจ้าของช่องเอง ถึงกับเงิบเพราะประสบกับภาวะขาดทุน เนื่องจากรายได้ค่าโฆษณาที่เป็นรายได้หลักได้ถูกแบ่งไปให้กับแพลตฟอร์มอื่น เช่น เฟซบุ๊ก และยูทูบ เป็นต้น

 

อีกทั้งมีจำนวนทีวีดิจิทัลมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า และต่างเข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงเค้กค่าโฆษณาก้อนเดียวกันที่มีขนาดเล็กลงอีก กระทั่งผู้ประกอบการรวม 11 ราย ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครอง และมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เข้ามาแก้ไขปัญหาในที่สุด

 

โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ออกแพคแกจให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ต้องการไปต่อ ได้ยกเว้นค่าไลเซนส์งวด 5-6 มูลค่า 13,622 ล้านบาท ทั้งสนับสนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (มักซ์) เต็มจำนวนตลอดอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ รวม 18,775 ล้านบาท และยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำข้อมูลค่าความนิยมเฉลี่ย (เรตติ้ง) โดยจะจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อวัดเรตติ้งที่ถูกต้องและยุติธรรม เป็นเงินราวๆ 431 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ไปต่อ สามารถคืนไลเซนส์และหอบเงินกลับไปตั้งหลักได้

 

กระทั่งมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 7 ช่องยกธงขาว ได้แก่ ช่อง 3 แฟมิลี่ (ช่อง 13), เอ็มคอตแฟมิลี่ (ช่อง 14), สปริงนิวส์ (ช่อง 19), ไบรท์ ทีวี (ช่อง 20), วอยซ์ ทีวี (ช่อง 21), สปริง 26 (ช่อง 26 หรือช่องนาวเดิม) และช่อง 3 เอสดี (ช่อง 28) ทำให้ปัจจุบันเหลือทีวีดิจิทัล 15 ช่อง

 

เรื่องเก่าหลอน 15 ช่องทีวีดิจิทัล

แม้คู่แข่งหายไปทีเดียว 7 ช่องรวด แต่ใช่ว่าที่เหลืออยู่ 15 ช่องจะปลอดภัย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาพึ่งพาแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินค่าโฆษณาที่ผ่านไปปีแล้วปีเล่าก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะผงกหัว ทั้งยังมีเรื่องเก่าตามหลอกหลอน

 

ล่าสุด “ศาลปกครองกลาง” มีคำสั่งประกาศเรียงช่องของ กสทช. ปี 2558 ที่ให้โครงข่ายการรับชมทีวีนอกเหนือจากทีวีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีต้องนำช่องทีวีดิจิทัลที่ผ่านการประมูลไปไว้ในโครงข่ายของตน และเรียงหมายเลขช่องตามผลการประมูลของ กสทช. เป็นประกาศที่ไม่ถูกต้อง ทำให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ไม่จำเป็นต้องเรียงหมายเลขช่องตามประกาศเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีขั้นอุทธรณ์ โดยศาลปกครองสูงสุดจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 25 สิงหาคมนี้

 

อีกทั้ง ขณะนี้ กสทช.เตรียมรับมือด้วยการออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่บนหลักการประนีประนอม เพื่อให้อุตสาหกรรมเดินต่อไปได้ โดยเสนอให้โครงข่ายทั้งทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี สามารถจัดเรียงช่อง 1-10 ได้เอง แทนที่ทีวีดิจิทัลช่องสาธารณะที่ขยับไปอยู่ช่อง 11-15 ส่วนช่องทีวีดิจิทัลภาคธุรกิจตั้งแต่หมายเลข 16-36 ยังอยู่ในหมายเลขเดิม

 

สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่า การออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่เพื่อไปแก้ไขคำสั่งศาลปกครองกลาง ซึ่งเบื้องต้นทีวีดิจิทัลช่องสาธารณะเห็นต่างเนื่องต้องย้ายช่อง อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ผู้ชมทีวีดิจิทัลผ่านกล่องเซตท็อปบ็อกซ์เพียง 20% ที่เหลือรับชมผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวี หากคำตัดสินของศาลปกครองให้เรียงช่องกันเองจะเกิดความสับสน ผู้ชมหาช่องไม่เจอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เรตติ้ง และรายได้ค่าโฆษณาตามมา

 

“หัวใจสำคัญของการตัดสินใจประมูลใบอนุญาตในปลายปี 2556 คือการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อหลักของชาติที่ กสทช.ให้สัญญา แม้ว่าในระยะแรกโครงข่ายของทีวีดิจิทัลจะยังส่งสัญญาณไม่ครอบคลุม จนถึงปัจจุบันผู้ชมก็ยังชมช่องทีวีผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีกว่า 70% แต่ด้วยประกาศมัสต์แครี่ ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2555 ก่อนการเปิดประมูล ให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีนำช่องทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่ ทำให้ผู้ชมสามารถรับชมทีวีดิจิทัลได้ทั่วประเทศ แม้ช่วงแรกจะมีปัญหาเรื่องหมายเลขช่องที่มีการเขย่งจากเลขที่ประมูลได้ไป 10 หมายเลข ก็ถูกแก้ไขด้วยประกาศเรียงช่องปี 2558 ทำให้การเรียงช่องเป็นไปตามเงื่อนไขการประมูลที่ง่ายต่อการสื่อสาร และผู้ชมก็จดจำได้และคุ้นเคย ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งจะเกิดความวุ่นวาย ส่งผลต่อคนดูและอุตสาหกรรมทีวีไทยครั้งใหญ่แน่นอน” นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุ

 

ทั้งนี้ การที่ กสทช.เสนอแนวทางประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ ให้โครงข่ายดาวเทียมและเคเบิลทีวี สามารถเรียงช่อง 1-10 เอง แม้ไม่ถูกต้องในหลักสากลและเงื่อนไขการประมูล แต่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมเดินต่อไปได้ พึ่งพาอาศัยกันโดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับหมายเลขช่องในปัจจุบัน ซึ่งมติสมาชิกพร้อมสนับสนุนแนวทางนี้ เพียงแต่ต้องกำหนดกติการ่วมกันไม่ทำให้เกิดปัญหาเดิม อาทิ ต้องเป็นช่องบอกรับสมาชิก, ต้องไม่มีช่องทีวีดิจิทัลมาออกอากาศซ้ำ และประเภทช่องรายการใน 1-10 ก็ต้องไม่เป็นคู่แข่งหรือซ้ำแนวทางกับช่องทีวีดิจิทัลที่ออกอากาศในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นช่อง ข่าว หนัง หรือวาไรตี้

 

วันที่ 4 สิงหาคม 2563 กสทช.มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย หรือโฟกัสกลุ่ม การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ครั้งที่ 2) ซึ่งมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเข้าร่วมอย่าง นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ช่องวัน 31) นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) (ช่องจีเอ็มเอ็ม 25) รวมถึง นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ช่องไทยรัฐทีวี) โดยนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เผยว่า การประชุมนี้เป็นการแสดงจุดยืนและเสนอความคิดเห็นต่อ กสทช.ถึงผลกระทบต่อทีวีดิจิทัล หากดำเนินการตามที่ศาลปกครองกลาง

 

จี้ออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่

ผ่านมาไม่กี่อึดใจ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก็ขยับตัวอีกครั้ง โดยนายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล เผยในการประชุมวิสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 ว่าการเรียงช่องยังไม่มีข้อยุติ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างอ้างความเสียหายของตัวเอง บวกกับท่าทีของ กสทช.ที่ยังไม่สามารถหาแนวทางการแก้ปัญหาได้ตามกรอบเวลาที่รับปากไว้ จึงต้องประกาศจุดยืนและแนวทางการต่อสู้ในฐานะฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้

 

โดยจุดยืนสำคัญในการต่อสู้ของทีวีดิจิทัล คือ การเป็นสื่อหลักเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นหัวใจสำคัญในการสะท้อนบริบทของสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการปฏิรูปสื่อ ตามนโยบายของรัฐที่มีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ เมื่อการเปลี่ยนผ่านของทีวีไม่เป็นไปตามแผนงานการคงไว้ ซึ่งประกาศมัสต์แครี่ปี 2555 และประกาศเรียงช่องปี 2558 ให้โครงข่ายการรับชมอื่น ทั้งทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีนำช่องรายการของทีวีดิจิทัลไปออกอากาศตรงตามหมายเลขการประมูล ถือเป็นความจำเป็นในการชดเชยและทดแทน เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหลที่ผู้ชมจะหาช่องไม่เจอ ซ้ำรอยอดีตที่นับเป็นความเสียหายต่ออุตสาหกรรมอย่างมาก

 

“การรับฟังความคิดเห็นในการประชุมกลุ่มย่อย การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดหมวดหมู่และการจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ครั้งที่ 2) สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ได้แสดงความคิดเห็นและถามไปยังรองประธาน กสทช.ว่าจะออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่เมื่อใด แจ้งว่าประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นบอร์ด กสทช.ฝั่งกิจการโทรทัศน์มีการจัดการประชุม แต่องค์ประชุมไม่ครบด้วยบางส่วนเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน จึงไม่สามารถออกประกาศได้ เราคิดว่าคนที่เข้าใจสถานการณ์ของผู้ประกอบการดีที่สุดน่าจะเข้าใจอุตสาหกรรม แต่กลับเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ถ้าศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นตรงกับศาลปกครองกลางอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบ

 

เราเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการที่ต้องประมูลทีวีดิจิทัลด้วยมูลค่ารวมกันกว่า 50,000 ล้านบาท ปัจจุบันผู้รับชมทีวีดิจิทัลผ่านกล่องรับสัญญาณเพียง 20% นอกนั้นเป็นอุปกรณ์อื่น จึงขอเรียกร้องให้ กสทช.เร่งการประชุมเพื่อออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ เรารู้ว่าการออกประกาศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ขอให้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะยืนอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการ โดย กสทช.จะออกประกาศก่อนศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำวินิจฉัยแล้วก็ได้ ซึ่งถ้าถึงที่สุดอาจต้องฟ้อง กสทช. ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับอุตสาหกรรม และอาจทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพราะถือเป็นวิกฤตของทีวีดิจิทัล” สุภาพให้ข้อมูล

 

ขณะที่ เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ระบุว่า ฟรีทีวีเป็นบริการสาธารณะ ประชาชนเมื่อต้องการรับข้อมูลข่าวสารจะได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ถ้ามีการปรับเปลี่ยนหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลจะกระทบกับการรับข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล เมื่อประชาชนสับสน ลูกค้าสับสน ผู้ชมไม่สามารถรับชมได้ จะกระทบกับเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลทั้งหมด

 

ทรูวิชั่นส์ต้าน หวั่นสับสน

ดูเหมือนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะผีซ้ำด้ำพลอย เพราะนอกจาก กสทช. กว่าจะประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ที่แม้จะมีช่องทรูโฟร์ยู และช่องทีเอ็นเอ็น ในทีวีดิจิทัล ได้ออกแถลงการณ์กรณีการจัดเรียงลำดับช่องดิจิทัลทีวีบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ว่าประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของประกาศการจัดเรียงลำดับช่องดิจิทัลทีวีบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกยังคงเป็นปัญหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

 

ดังนั้น การเร่งรัดออกประกาศฉบับใหม่โดยไม่รอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดี มีแต่จะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกเกิดความสับสนกับการจัดเรียงลำดับช่องดิจิทัลทีวีรูปแบบใหม่บนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกอย่างแท้จริง อีกทั้งยังจะก่อให้เกิดภาระหน้าที่ต่อผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่ต้องลงทุนและปรับเปลี่ยนการจัดเรียงช่องรายการใหม่อีกครั้ง อันจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งและเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดังเช่นที่ผ่านมา

 

จึงขอเสนอให้ กสทช.ชะลอการออกประกาศเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์การจัดเรียงลำดับช่องดิจิทัลทีวีบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกฉบับใหม่ไปก่อนจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีการฟ้องเพิกถอนประกาศจัดเรียงลำดับช่องรายการ แล้วจึงค่อยพิจารณาเหตุผลความจำเป็นและแนวทางการจัดเรียงลำดับช่องรายการดิจิทัลทีวีบนโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่เหมาะสมกับสภาพอุตสาหกรรมและพฤติกรรมของประชาชนผู้ใช้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก

 

ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนผู้ใช้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่มีอยู่หลายร้อยรายรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกทั้งหมด

 

การที่ กสทช.ออกประกาศจัดเรียงลำดับช่องรายการเพื่อบังคับให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ต้องนำช่องทีวีดิจิทัลมาจัดเรียงไว้ในลำดับที่ 1-36 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดบนโครงข่ายรวมถึงจำกัดสิทธิในการประกอบกิจการของผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกอีกหลายประการ เช่น การห้ามนำช่องดิจิทัลทีวีไปออกอากาศซ้ำในตำแหน่งอื่น เป็นต้น จึงเป็นการใช้อำนาจและดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ฟาก กสทช.แง้มว่า จะนำการรับฟังความคิดเห็นการประชุมกลุ่มย่อย เข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จะมีการประชุมในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จากนั้นกลางเดือนกันยายน 2563 จะนำข้อสรุปเข้าที่ประชุม กสทช. ส่วนจะออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่หรือไม่ขึ้นอยู่กับบอร์ด กสทช.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง