นักวิจัยค้นพบ "จีโนมมนุษย์" เก่าแก่ที่สุดในพื้นที่ตอนใต้ของสเปน
คณะนักวิจัยนานาชาติ ค้นพบ "จีโนมมนุษย์" ที่มีความเก่าแก่มากที่สุดจากพื้นที่ตอนใต้ของสเปน ซึ่งเป็นของมนุษย์โบราณอายุกว่า 23,000 ปี ที่เคยอาศัยอยู่ในยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย
คณะนักวิจัยนานาชาติ เปิดเผยว่า ค้นพบจีโนมมนุษย์ในถ้ำมัลอัลมูเออร์โซ (Malalmuerzo) บนคาบสมุทรไอบีเรียทางตอนใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความอบอุ่นที่สุดของยุโรปในอดีตกาล และอาจเป็นที่พักพิงเพื่อหลีกหนีสภาพอากาศรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อทวีปยุโรป
โดยการค้นพบจีโนมมนุษย์ในครั้งนี้ เป็นของมนุษย์โบราณอายุกว่า 23,000 ปี ในยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย (the last Ice Age) อันเป็นช่วงเวลาที่มีระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปัจจุบันมาก
การ์เลส ลาลูเอซา-ฟอกซ์ นักพันธุศาสตร์จากสถาบันชีววิทยาวิวัฒนาการของสเปน กล่าวว่า จีโนมข้างต้นพิสูจน์การมีอยู่ของบางเชื้อสายบนคาบสมุทรไอบีเรีย และแสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้อาจเป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวในยุโรปที่ประชากรสามารถยืนหยัดผ่านยุคน้ำแข็งใหญ่สุดครั้งสุดท้าย (Last Glacial Maximum)
บทความเกี่ยวกับการศึกษาข้างต้นของลาลูเอซา-ฟอกซ์ ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารเนเจอร์ อีโคโลจี แอนด์ อีโวลูชัน (Nature Ecology & Evolution) ในเดือนมีนาคม ระบุว่าคาบสมุทรไอบีเรียอาจทำหน้าที่เป็นจุดเริ่มต้นการล่าอาณานิคมอีกครั้งของยุโรปหลังยุคน้ำแข็งใหญ่สุดครั้งสุดท้าย
ด้าน โวล์ฟกัง ฮาค นักวิจัยอาวุโสของสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อการศึกษามานุษยวิทยาวิวัฒนาการ เสริมว่าการค้นพบมรดกทางพันธุกรรมที่คงอยู่มายาวนานบนคาบสมุทรไอบีเรียถือเป็นเรื่องน่าทึ่ง โดยเฉพาะเมื่อบรรพบุรุษก่อนยุคน้ำแข็งนี้ได้สูญหายไปจากส่วนอื่นๆ ของยุโรปนานแล้ว
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้กู้คืนข้อมูลจีโนมของเกษตรกรยุคแรกเริ่ม ซึ่งมีชีวิตระหว่าง 5,000-7,000 ปีที่แล้ว จากสถานที่สำคัญแห่งอื่นๆ อาทิ ถ้ำอาร์ดาเลสใกล้เมืองมาลากา โดยหวังว่าจะสามารถไขความกระจ่างถึงจุดเริ่มต้นของการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ดังกล่าวได้
ภาพประกอบข่าว รอยเตอร์