รีเซต

ลงทะเบียนเลือกตั้งประกันสังคม คืออะไร? ใครบ้างมีสิทธิเลือกตั้ง-ลงทะเบียนช่องทางไหน

ลงทะเบียนเลือกตั้งประกันสังคม คืออะไร? ใครบ้างมีสิทธิเลือกตั้ง-ลงทะเบียนช่องทางไหน
TNN ช่อง16
27 ตุลาคม 2566 ( 13:00 )
113
ลงทะเบียนเลือกตั้งประกันสังคม คืออะไร? ใครบ้างมีสิทธิเลือกตั้ง-ลงทะเบียนช่องทางไหน

ลงทะเบียนเลือกตั้งประกันสังคม 24 ธันวาคม 2566 เปิดรายละเอียดขั้นตอน ผู้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง ลงทะเบียนผ่านช่องทางไหนบ้าง


พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน มาจากการเลือกตั้งโดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 และนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม 


การได้มาของคณะกรรมการประกันสังคม เป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น จะมีบทบาทอำนาจหน้าที่ในการเสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบาย พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตรากฎหมาย วางระเบียบวาระเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน 


โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง วางระเบียบเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานประกันสังคม ให้คำปรึกษาและแนะนำคณะกรรมการ/สำนักงานประกันสังคม ปฏิบัติการอื่นๆ ใด ตามกฎหมาย หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบหมายอีกด้วย


สำนักงานประกันสังคม กำหนดจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม 2566 เวลา 08.00 – 16.00 น. ดังนี้


- ผู้ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งต้องลงทะเบียนในวันที่ 12 – 31 ตุลาคม 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือที่สำนักงานกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ 

- คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่มีสัญชาติไทย 

- ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนเดือนที่มีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง (มีนาคม – สิงหาคม 2566) 

- จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ประกาศเลือกตั้ง) 

- ส่วนของนายจ้างจะต้องเป็นนิติบุคคลผู้จะใช้สิทธิต้องอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจ/กรณีเป็นผู้มีอำนาจในนิติบุคคลมากกว่า 1 นิติบุคคลต้องเลือกใช้สิทธิได้เพียงแห่งเดียว


วันที่ 25 – 31 ตุลาคม 2566 เป็นวันสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน โดยกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง คือ 

- จะต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดสมัครรับเลือกตั้ง 

- ส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 36 เดือน นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง 

- ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ 

- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ 

- ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต 

- ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 

- ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ 

- ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกหรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐ หรือสถานประกอบกิจการของเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่ 

- ไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีประโยชน์ได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญา หรือมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงานไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม 

- ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมืองเว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี


วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานประกันสังคมจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด


นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งฯ กล่าวฝากสื่อมวลชนประชาสัมพันธ์เชิญชวนนายจ้าง ผู้ประกันตน ทั่วประเทศลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง วันที่ 12 – 31 ตุลาคม 2566 โดยพร้อมเพรียงกัน 


ทั้งนี้ เพื่อเป็นตัวแทนในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของนายจ้าง ผู้ประกันตน 


สามารถสอบถามรายละเอียด และคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) โทร. 02-956-2222 ในวันและเวลาราชการ 




ข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม

ภาพจาก TNN ONLINE / สำนักงานประกันสังคม

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง