รีเซต

เปิดแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 รองรับสังคมสูงวัยเชิงรุกทุกมิติ

เปิดแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 รองรับสังคมสูงวัยเชิงรุกทุกมิติ
TNN ช่อง16
18 พฤษภาคม 2565 ( 08:54 )
113




นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ว่า ครม.อนุมัติแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบบูรณาการการทำงานเชิงรุกในการรองรับสังคมสูงวัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้วเมื่อปี 2564


แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ "ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม"  โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1)เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง 2)เพื่อเพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ 3)เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ 4)เพื่อรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 – 59 ปี ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุในอีก 1 - 35 ปีข้างหน้า ให้ได้ตระหนักและเตรียมพร้อมการใช้ชีวิตที่ดีในยามสูงอายุ สำหรับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุฯ ฉบับนี้ จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนใน 5 ปีแรก (พ.ศ.2566-2570) และแผนปฏิบัติการระยะ 15 ปี (พ.ศ.2566-2580) ซึ่งประกอบด้วยแผนปฏิบัติการย่อย 4 แผน ดังนี้


แผนปฏิบัติการย่อยที่ 1 เตรียมความพร้อมของประชากรก่อนสูงวัย ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้ 1)ส่งเสริมให้ประชากรอายุ 25 - 59 ปี  เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุในมิติทางเศรษฐกิจ เช่น ส่งเสริมการออมเพื่อยามชราภาพ พัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติแบบหลายชั้น เป็นต้น 2)เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงกระบวนการชราภาพ ตระหนักถึงคุณค่า ศักดิ์ศรีและมีความรับผิดชอบต่อผู้สูงอายุ 3)ส่งเสริมการพัฒนาความรู้และศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง รู้เท่าทันและสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล 4)เร่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ 5)ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับวัยสูงอายุ


แผนปฏิบัติการย่อยที่ 2 ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทุกมิติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม  ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้ 1)ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านเศรษฐกิจ เช่น ปฏิรูปหลักประกันยามชราภาพ เป็นต้น 2)ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสุขภาพ เช่น พัฒนาระบบสุขภาพรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุกที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม เป็นต้น 3)ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสังคม 4)ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสภาพแวดล้อม เช่น ปรับสภาพที่อยู่อาศัยทั้งภายในและภายนอก


แผนปฏิบัติการย่อยที่ 3 ปฏิรูปและบูรณาการระบบบริหารเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย 8 มาตรการ ดังนี้ 1)แปลงแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุสู่การปฏิบัติและผลักดันให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนแผนอย่างมีบูรณาการตั้งแต่ระดับชาติสู่ระดับท้องถิ่น 2)ติดตามและประเมินผลนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ 3) ปฏิรูประบบกฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินงานของทุกภาคส่วน  4)วางระบบกำลังคนด้านผู้สูงอายุทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในระดับชาติและระดับพื้นที่ 5)เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและการจัดการงานด้านผู้สูงอายุ 6)พัฒนาระบบพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิ์ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง 7)พัฒนาระบบปกป้องและฟื้นฟูผู้สูงอายุและครอบครัวในยามเกิดวิกฤต 8)ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ


แผนปฏิบัติการย่อยที่ 4 เพิ่มศักยภาพการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้ 1)ส่งเสริมการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเพื่อการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ  2)ส่งเสริมการพัฒนาระบบข้อมูลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านผู้สูงอายุที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ


“รัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับสังคมสูงวัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสังคมสูงวัยไม่ใช่เพียงเรื่องของคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัย โดยต้องสร้างความตระหนักในกลุ่มคนวัยทำงานถึงความสำคัญของการออมเงิน และการเตรียมตัวเองสู่การเป็นผู้สูงอายุและอยู่ในสังคมสูงอายุ อีกทั้งสร้างทัศนคติใหม่ให้มองผู้สูงอายุเป็นทุนทางสังคมและเป็นผู้มีศักยภาพหากได้รับการส่งเสริมโอกาส” นางสาวรัชดากล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง