รีเซต

บลิงเกนเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเสริมสัมพันธ์ทางศก.-ความมั่นคง

บลิงเกนเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเสริมสัมพันธ์ทางศก.-ความมั่นคง
มติชน
12 ธันวาคม 2564 ( 18:06 )
24
บลิงเกนเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งเสริมสัมพันธ์ทางศก.-ความมั่นคง

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เดินทางเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศคืออินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในสัปดาห์หน้า เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความร่วมมือด้านความมั่นคง ขณะที่สหรัฐอเมริกาเร่งหาแนวร่วมเพื่อต่อต้านจีนในอินโด-แปซิฟิก

นายบลิงเกนซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจในการประชุมจี7 ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ จะเดินทางเยือนอินโดนีเซียเป็นประเทศแรก โดยเขาจะเยือนกรุงจาการ์ต้าในวันที่ 13 ธันวาคม ตามด้วยมาเลเซีย และจะเดินทางมาเยือนไทยในวันที่ 15-16 ธันวาคม

ถือเป็นการเดินทางเยือนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

นายแดเนียล เจ. คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า บลิงเกนจะเดินตามความตั้งใจของประธานาธิบดีไบเดนที่จะยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์กับชาติสมาชิกอาเซียนไปสู่ระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พุ่งความสนใจไปที่การเพิ่มพูนความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงในภูมิภาค ท่ามกลางการเผชิญหน้าของการระรานจากจีน และหารือถึงวิสัยทัศน์กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ของประธานาธิบดีไบเดน

ทั้งนี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญระหว่างสหรัฐและจีน สองชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่รัฐบาลสหรัฐมองว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญต่อความพยายามที่จะโต้กลับการเพิ่มขึ้นของอำนาจของจีน แต่กลับขาดโครงสร้างในการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการระหว่างกัน นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวออกจากความตกลงทางการค้า CPTPP ในปี 2560 ซึ่งยิ่งจำกัดความสามารถในการสร้างอิทธิพลของสหรัฐ แต่กลับทำให้อิทธิพลของจีนเติบโตมากขึ้น

แม้สหรัฐจะยังไม่ได้พูดชัดเจนว่ากรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอะไรที่รัฐบาลไบเดนมองไว้ แต่นายคริเทนบริงค์กล่าวว่า จะพุ่งไปที่การอำนายความสะดวกทางการค้า เศรษฐกิจดิจิทัล ห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น โครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาด และการวางมาตรฐานด้านแรงงาน

นักวิเคราะห์และนักการทูตกล่าวว่า บลิงเกนน่าจะล่อใจประเทศต่างๆ ด้วยการให้ประเทศเหล่านี้กลายเป็นฐานการผลิตสินค้าของบริษัทสหรัฐที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาห่วงโซ่อุปทานที่ละเอียดอ่อนรวมถึงเรื่องการพัฒนาด้านการเงิน แต่ไม่มีวี่แววว่าจะเต็มใจเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภูมิภาคนี้ต้องการ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง