'ไทย' รับอานิสงส์ส่งออก หลัง 'เฟด' ลดงบดุลหวังสกัดเฟ้อ
ธนาคารกลางสหรัฐ ปรับลดงบดุล 95,000 ล้านดอลลาร ช่วยกดเงินเฟ้อ ดอลลาร์แข็ง ผลบาทอ่อนกระตุ้นส่งออกไทย ค่าครองชีพสูง
เมื่อ 14.00 น. วันที่ 10 เมษายน รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ประเมิน ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาปรับลดงบดุลหรือลดการซื้อทรัพย์สินทางการเงินในตลาดการเงินเดือนละ 95,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 3.135 ล้านล้านบาท โดยจะเริ่มต้นลดขนาดงบดุลเดือนพฤษภาคม (เดิมจะเริ่มลดขนาดงบดุลลงเดือนตุลาคม) การลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลงเดือนละ 60,000 ล้านดอลลาร์ และลดซื้อตราสารที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุน หลังเดือนละ 35,000 ล้านดอลลาร์ จะทำให้ปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯในระบบทะยอยลดลง ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและเป็นช่วงเวลาขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์และจะเริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ค่าดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจะช่วยกดอัตราเร่งของเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาให้ชะลอลงบ้าง
ขณะเดียวกัน จะทำให้เงินสกุลหลักบางสกุลรวมทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ การปรับลดงบดุลและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งต่อความผันผวนต่อตลาดการเงินโลกในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากตลาดการเงินโลกได้ปรับฐานมาระยะหนึ่งแล้วและธนาคารกลางสหรัฐฯได้ส่งสัญญาณการเพิ่มนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมาเป็นระยะๆ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ไทยจะสามารถชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกนานเท่าไหร่ หากเศรษฐกิจไม่กระเตื้องขึ้นดีนัก จะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินไทยอย่างแน่นอน
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสัดส่วนสูงขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปี และ ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้บ้าง อย่างไรก็ตาม การนำเข้าราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินบาท และ ปัญหาทางด้านอุปทานของตลาดพลังงานโลก ทำให้ ต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออกสูงขึ้นเช่นเดียวกัน การอ่อนตัวลงของเงินบาทจะทำให้อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศเร่งตัวขึ้นอีกในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้
ทั้งนี้ จากการประเมินการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียล่าสุด กรณีการไม่นำเข้าถ่านหินจากรัสเซีย และ ไม่นำเข้าพลังงานก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในระยะต่อไป จะไม่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกมากนัก เนื่องจากปริมาณน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ที่ถูกปล่อยออกมาในตลาดโลก นอกจากนี้การกลับมาเริ่มส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ช่วยประคับประคองไม่ให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ทางด้านอุปสงค์ต่อพลังงานก็ชะลอตัวลงด้วยจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและการกลับมาล็อกดาวน์ของจีนในบางพื้นที่
อย่างไรก็ตาม การงดนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียช่วยตอบสนองต่อนโยบายสิ่งแวดล้อมของอียู ลดภาวะโลกร้อน ก่อให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากในธุรกิจอุตสาหกรรม Renewable Energy ทั้งหลาย ส่งผลบวกต่อธุรกิจอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีบริษัทที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดพลังงานทางเลือกและ Renewable Energy ของโลกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทในเยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และประเทศยุโรปเหนืออย่าง ฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก การบริโภคและการใช้พลังงานหนุมเวียนและพลังงานทางเลือกของสมาชิกอียูอยู่ที่ระดับ 23-24% ของการบริโภคพลังงานทั้งหมดและมีเป้าหมายตามแผนการ European Green Deal 2050 เพื่อให้เป็นภูมิภาคที่เป็น World first climate-neutral Continent เท่ากับว่า การพึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิส (Fossil Fuel) จากรัสเซียจะลดลงอย่างมีนัยยสำคัญอยู่แล้ว
อย่างประเทศสวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนสูงถึง 30-67.5% สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งกว่าเดิมและใช้เวลาในการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เร็วขึ้น
ส่วนการคว่ำบาตรรัสเซียด้วยการห้าม กองเรือรัสเซีย เข้าเทียบท่าเรือในอียู นั้น จะทำให้ต้นทุนขนส่งสินค้าแพงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น และ อาจเกิดภาวะการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าบางประเภท อาจจะเป็นผลบวกทางอ้อมต่อสนค้าส่งออกจากประเทศไทยที่สามารถนำเข้าทดแทนได้