ไฮโซเก๊อดีตแฟนคะน้า คือใคร? ย้อนประวัติ - วีรกรรมทำอะไรมาบ้าง?

ไฮโซเก๊อดีตแฟนคะน้า คือใคร? ย้อนดูประวัติ - พร้อมเปิดพฤติกรรมเคยทำอะไรมากบ้าง พบฉ้อโกงซ้ำซาก
เป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอยู่ในโลกโซเชียลขณะนี้ สำหรับประเด็นของ “ไฮโซเก๊อดีตแฟนคะน้า” ที่ก่อวีรกรรมหลอกลวงคบหากับดาราสาว คะน้า ริญญารัตน์ อีกทั้งมีพฤติกรรมฉ้อโกง ตบทรัพย์ มีโลก 2 ใบ
โดยจุดเริ่มต้นของการพบกัน ไฮโซเก๊รายนี้ รู้จักกับดาราสาวผ่านเว็บไซต์หาคู่ โดยมีการใช้ ภาพโปรไฟล์หรูหรา พร้อมโปรยคำแนะนำตัวว่า “ผู้ชายหุ่นหมี จริงใจมาจริงใจกลับ ชอบนั่งร้านกาแฟ ฟังเพลง ไปบาร์ดี ๆ ไม่เจ้าชู้” ซึ่งทำให้เกิดการคบหากัน จนนำไปสู่การเปิดโกง และ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์เมื่อความจริงเปิดเผย
อดีตนักกิจกรรมในนาม "เครือข่ายยุวทัศน์" ก่อนเปลี่ยนชื่อและนามสกุล
ไฮโซเก๊อดีตแฟนคะน้า เคยเป็นที่รู้จักในแวดวงเยาวชนและกิจกรรมจิตอาสา โดยช่วงก่อนปี 2557 เขาเคยมีบทบาทใน เครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร และมีตำแหน่งรองประธานในองค์กร
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเขาได้อ้างสิทธิ์ความเกี่ยวข้องกับองค์กรไปใช้ในการ ฉ้อโกงทรัพย์จากมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน เป็นจำนวนเงินรวมกันเกือบแสนบาท ส่งผลให้เครือข่ายยุวทัศน์ออกแถลงการณ์ ถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง และตัดขาดความสัมพันธ์ใด ๆ กับเขาอย่างเป็นทางการ
ไฮโซเก๊เปลี่ยนนามสกุลใหม่ ก่อนเริ่มต้นการแอบอ้าง - ตุ๋นเงินซ้ำซาก
ไฮโซเก๊ รายดังกล่าวมีการเปลี่ยนมาใช้นามสกุลดัง แถมยังเคยแอบอ้างว่า รู้จักผู้ใหญ่ระดับสูงในราชการและใช้ชื่อองค์กรเดิมในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวต่อเนื่อง หนึ่งในคดีที่เป็นข่าวดังเมื่อปี 2559 คือการหลอกนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยอ้างว่ามีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สนใจซื้อที่ดิน แต่มีค่าใช้จ่ายเบื้องต้น จนเหยื่อหลงเชื่อ ก่อนเรื่องแดงและมีการแจ้งความจับกุมในที่สุด
เปิดพฤติกรรม "ไฮโซกำมะลอ" โผล่ในกลุ่มหาเพื่อนกิน - เที่ยว ก่อนเป็นข่าวดัง
ก่อนจะตกเป็นกระแสข่าวใหญ่กรณีหลอกคบดาราสาวชื่อดัง อดีตแฟนหนุ่ม “ไฮโซกำมะลอ” รายนี้ ไม่ได้เพียงสิงอยู่ตามแอปพลิเคชันหาคู่เท่านั้น แต่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในกลุ่มโซเชียลชื่อดังประเภท "หาเพื่อนกิน เที่ยว" มาอย่างยาวนาน
สมาชิกในกลุ่มได้มีการขุดโพสต์เก่า ๆ ของเจ้าตัวออกมาแชร์อีกครั้ง พบว่าเจ้าตัวมักโพสต์ชักชวนผู้คนไปล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยายามเย็น ชวนไปนั่งบาร์ จิบไวน์ และเครื่องดื่มต่าง ๆ พร้อมภาพลักษณ์ดูดีน่าเชื่อถือ
หลายคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไฮโซเก๊” รายนี้ ถือเป็น “ระดับตำนาน” ที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น สร้างโปรไฟล์ดูหรูหรา น่าเชื่อถือ เพื่อผูกมิตรอย่างแนบเนียน ก่อนเรื่องราวจะถูกเปิดโปงในเวลาต่อมา.
สรุปเสียงโซเชียล บทเรียนสำคัญจากคดี “ไฮโซเก๊อดีตแฟนคะน้า” เราควรรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไร?
1. อย่าหลงเชื่อภาพลักษณ์จากโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียว
รูปโปรไฟล์หรูหรา คำพูดดูจริงใจ อาจเป็นเพียงฉากหน้าที่สร้างขึ้นเพื่อหลอกลวง ความสัมพันธ์ควรเกิดจากการเรียนรู้กันจริง ไม่ใช่เพียงความประทับใจแรกพบในโลกออนไลน์
2. ตรวจสอบภูมิหลังคนที่คบหา
ก่อนเชื่อใจ ไม่ว่าจะรู้จักกันผ่านแอปหาคู่ หรือมีคำแนะนำจากใคร การตรวจสอบข้อมูลพื้นฐาน เช่น ชื่อจริง ประวัติการทำงาน หรือการเคยถูกฟ้องร้อง เป็นสิ่งจำเป็นก่อนเชื่อใจ
3.พฤติกรรม “อ้างคนรู้จักระดับสูง” คือ Red Flag
การที่ใครสักคนชอบอ้างว่า "รู้จักผู้ใหญ่" หรือ "มีเส้นสาย" เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ หรือข่มขู่ให้เราเชื่อใจ คือสัญญาณเตือนว่าอาจมีเจตนาแอบแฝงหรือไม่สุจริต
4. องค์กรควรชัดเจนเรื่องการปลด - แถลงตัดขาดสมาชิกที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ในกรณีนี้ เครือข่ายยุวทัศน์ออกแถลงการณ์ตัดขาดอย่างชัดเจน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการรับผิดชอบต่อภาพลักษณ์องค์กร และเตือนสังคมไม่ให้ตกเป็นเหยื่อซ้ำ
5. คดีหลอกลวงในอดีตสามารถกลับมาเป็นภัยซ้ำได้
หากไม่มีการดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด หากคนที่มีพฤติกรรมหลอกลวงไม่ได้รับโทษหรือถูกเฝ้าระวังอย่างจริงจัง อาจวนกลับมาทำพฤติกรรมซ้ำซากในรูปแบบใหม่ สังคมจึงควรร่วมกันเปิดเผยและติดตาม