โควิด-19 : สายการบินลุฟท์ฮันซารับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 3.15 แสนล้านบาท แลกรัฐถือหุ้น 20%
โควิด-19 : สายการบินลุฟท์ฮันซารับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 3.15 แสนล้านบาท แลกรัฐถือหุ้น 20% - BBCไทย
สายการบินลุฟท์ฮันซาตกลงรับแผนความช่วยเหลือมูลค่ากว่า 9 พันล้านยูโร หรือ 3.15 แสนล้านบาทจากทางการเยอรมนีเพื่อกอบกู้ธุรกิจการบินไม่ให้ล้มละลายจากผลกระทบการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้สายการบินต้นทุนต่ำอย่าง เยอรมันวิงส์ ยุติกิจการไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
ภายใต้แผนการช่วยเหลือดังกล่าวรัฐบาลเยอรมนีจะเข้าถือครองหุ้นในสายการบินแห่งนี้เป็นสัดส่วน 20% โดยมีแผนจะขายหุ้นจำนวนนี้ออกไปภายในสิ้นปี 2023 อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวยังจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากกลุ่มผู้ถือหุ้นของสายการบินรวมทั้งคณะกรรมาธิการยุโรป
นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมนียังต้องอัดฉีดเม็ดเงินราว 5.7 พันล้านยูโร หรือเกือบ 2 แสนล้านบาทในส่วนหุ้นที่ไม่มีสิทธิออกคะแนนเสียง อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของเงินดังกล่าวสามารถแปรสภาพเป็นการถือหุ้นเพิ่มเติมได้อีก 5% ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถคัดค้านการเทคโอเวอร์อย่างไม่เป็นมิตร (hostile takeover) ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
- การบินไทยดึงมือบริหารร่วมบอร์ดใหม่แทนพลเรือน
- สายการบินแห่งชาติต้อง "บิน" ผ่านอะไรบ้างในการฟื้นฟูกิจการ
- รัฐบาลสั่ง ก.คลัง ลดสัดส่วนถือหุ้นลงเหลือ 48% ให้ 3 เดือน แผนฟื้นฟูการบินไทยต้องเสร็จ
- อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายแนะแนวทางฟื้นฟูกิจการสายการบินแห่งชาติ
ภายหลังมีการรายงานข่าวดังกล่าว ตลาดหุ้นในยุโรปต่างขานรับด้วยการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาหุ้นของสายการบินลุฟท์ฮันซาเมื่อปิดตลาดเมื่อวันจันทร์เพิ่มขึ้นกว่า 7.5% ในขณะที่ดัชนี Dax ของเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% ส่วนดัชนีตลาดหุ้นในนครแฟรงก์เฟิร์ตทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนดัชนี Cac 40 ในฝรั่งเศสก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% ขณะที่ดัชนี European Euro Stoxx 50 ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1%
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) คาดการณ์ว่ารายได้จากผู้โดยสารของสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกจะลดลงมากกว่า 40% ในปีนี้พร้อมกับออกคำเตือนว่า แรงงานในอุตสาหกรรมการบินรวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกว่า 25 ล้านคน ตกอยู่ในความเสี่ยง
อุ้มเพื่อไม่ให้คนตกงานกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง
นายโอลาฟ โชลซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนี กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า "มาตรการสนับสนุนดังกล่าว จะมีช่วงเวลาจำกัด เมื่อสายการบินกลับมามีผลประกอบการที่ดีดังเดิม รัฐบาลคาดหวังว่าจะขายหุ้นด้วยกำไรไม่มากนักเพื่อที่จะทำให้สถานะทางการเงินการคลังของประเทศสามารถช่วยเหลือกิจการอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ใช่เพียงแค่สายการบินนี้เท่านั้น"
การเจรจาระหว่างสายการบินลุฟท์ฮันซาและรัฐบาลเยอรมนีใช้เวลาหลายสัปดาห์ โดยมีเป้าหมาย คือ การให้เงินอุดหนุนสายการบินรวมทั้งสามารถรักษาตำแหน่งงานกว่า 1 หมื่นอัตราที่คาดว่าจะเสี่ยงต่อการตกงานเพราะผลกระทบจากการปิดเมืองทั่วโลกหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นอกจากความช่วยเหลือสายการบินรายนี้แล้ว ทางการเยอรมนียังตั้งงบประมาณกว่า 1 แสนล้านยูโร หรือราว 3.4 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญภาวะชะงักงันในห้วงวิกฤตโควิด-19
หากพิจารณาสถานภาพทางการเงินของสายการบินลุฟท์ฮันซาแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก สายการบินรายนี้ถือว่าทำกำไรและมีทิศทางการบริหารธุรกิจที่ดี แต่ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ลุฟท์ฮันซาต้องปลดประจำการเครื่องบินมากกว่า 40 ลำ พร้อมระบุว่าจะพิจารณานำเครื่องบินออกจากหน่วยธุรกิจอื่น ๆ ภายใต้กลุ่มสายการบินของลุฟท์ฮันซา เช่น สายการบินออสเตรียน แอร์ไลน์, สายการบิน สวิส อินเตอร์เนชันแนล แอร์ไลน์, และ สายการบินยูโรวิงส์
นักวิเคราะห์จาก the Centre for Aviation บอกว่า สายการบินลุฟท์ฮันซา ถือว่าเป็นสายการบินที่ให้บริการผู้โดยสารจำนวนมากที่สุดในยุโรป ตามมาด้วยสายการบินแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม
ลุฟท์ฮันซาไม่ใช่สายการบินแห่งชาติรายเดียวในยุโรปที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมารัฐบาลฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ก็สัญญาว่าจะปล่อยเงินกู้มูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านยูโรพร้อมกับการการันตีว่าจะให้การสนับสนุนสายการบินแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม
รัฐบาลของสหราชอาณาจักรก็เตรียมประกาศรายละเอียดแผนการช่วยหลือธุรกิจการบินและธุรกิจใหญ่อื่น ๆ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีมติให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยศาลล้มละลายกลาง และมีคำสั่งให้กระทรวงการคลังต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นจากเดิม 51% ลงเป็น 47% เพื่อปลดสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจของการบินไทยออกไปและเปิดโอกาสให้ผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาวางแผนและดำเนินการฟื้นฟูกิจการ