เคาะจ่ายอุดหนุนสมทบเงินเดือนครูอาชีวศึกษาเอกชน เพิ่ม 450 บาทต่อปี
ภาพจาก ประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (7 ก.ย.64) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เห็นชอบการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคล ในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา ระดับ ปวช. เพื่อประกันรายได้ครูโรงเรียนเอกชน ให้ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่ทางราชการกำหนด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2565
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครู สำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูเพิ่มขึ้น 450 บาท/คน/ปี
โดยปรับอัตราจาก 8,582.50 บาท/คน/ปี เป็น 9,032.50 บาท/คน/ปี เท่ากับการอุดหนุนนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ประเภทสามัญศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ปลาย) เพื่อประกันรายได้ครูโรงเรียนเอกชน ให้ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่ทางราชการกำหนด โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ จะใช้งบประมาณปีละ 97.4 ล้านบาท ครอบคลุมสถานศึกษาอาชีวศึกษา 484 แห่ง นักเรียนในสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนระดับ ปวช. จำนวน 2 แสนกว่าคน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา ให้มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในการพัฒนาประเทศ
และเป็นการช่วยส่งเสริม สนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา โดยภาคเอกชนเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระรัฐในการจัดการศึกษา ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล และเป็นการประกันรายได้ครูในสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนให้ได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำที่ทางราชการกำหนด ซึ่งจะครอบคลุมครูจำนวน 10,893 คน
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการประสานงานกับสำนักงบประมาณ และจัดทำระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อดำเนินการต่อไป
สำหรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายบุคคลนักเรียนสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนในปัจจุบัน ประกอบด้วย
1) ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ซึ่งใช้ในอัตราเดียวกับนักเรียนภาครัฐ
2) เงินสบทบเป็นเงินเดือนครู ซึ่งเป็นอัตราที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอปรับและได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ในครั้งนี้
3) เงินอุดหนุนสมทบที่เป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา