รีเซต

อากาศปิด PM 2.5 เริ่มกลับมา! ผลกระทบสุขภาพที่ไม่เล็กตามขนาด

อากาศปิด PM 2.5 เริ่มกลับมา! ผลกระทบสุขภาพที่ไม่เล็กตามขนาด
TNN Health
25 ตุลาคม 2564 ( 19:31 )
89

ข่าววันนี้ ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 นับเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่ยากจะหลีกเลี่ยง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพคนเรา ด้วยขนาดฝุ่นที่เล็กมากจึงสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และกระแสเลือดโดยตรง จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง โดยPM 2.5 คือฝุ่นละเอียด (Fine Particle) เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีแหล่งกําเนิดจากควันเสียของรถยนต์ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ควันที่เกิดจากหุงต้ม อาหารโดยใช้ฟืน นอกจากนี้ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ออกไซต์ของไนโตรเจน (NOx) และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) จะทําปฏิกิริยากับสารอื่นในอากาศทําให้เกิดเป็น PM 2.5 ขึ้นได้เช่นกัน


ด้วยขนาดที่เล็กมากๆ ประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผม ทำให้ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ และลอยในอากาศได้นานและไกลถึง 1,000 กิโลเมตร ซึ่งอาจมีสารพิษอื่นเกาะมาด้วย หากล่องลอยอยู่ในอากาศปริมาณมาก จะเห็นท้องฟ้าเป็นสีหม่น หรือเกิดเป็นหมอกควัน


เมื่อฝุ่นจับตัวกับมลพิษและสารเคมีหลายชนิดในอากาศ จึงเกิดปัจจัยร่วมที่เป็นสาเหตุของโรคต่างๆ จากสารระคายเคืองไปจนถึงสารก่อมะเร็ง เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคมะเร็งปอด เป็นต้น


การได้รับสัมผัส PM 2.5 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทุกช่วงอายุ แต่ในกลุ่มเด็กโดยเฉพาะอายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ด้านพฤติกรรม สิ่งแวดล้อม และสรีระวิทยา โดยความเสี่ยงเริ่มตั้งแต่ช่วงพัฒนาของทารกในครรภ์ และหลังจากคลอดในช่วงปีแรก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันปอดและสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ 


นอกจากนี้ เด็กจะมีอัตราการหายใจมากกว่ากว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน จะมีอัตราการหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ 2 เท่า จึงอาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดิน หายใจ ทั้งโรคหอบหืด โรคปอดอักเสบ ปอดอุดกั้น เรื้อรัง เกิดโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจพิการแต่กําเนิดของทารก รวมถึงผลกระทบต่อพัฒนาการของระบบประสาท ทําให้ลดระดับสติปัญญาและมีแนวโน้มเกิดโรคเกี่ยวกับพัฒนาการด้านพฤติกรรม เช่น ออติสติก และโรคสมาธิสั้น รวมทั้งการพัฒนาด้านจิตใจและกล้ามเนื้อของเด็ก 


หากมารดาตั้งครรภ์ได้รับ PM2.5 ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจทําให้เกิดการคลอดที่ผิดปกติ คลอดก่อนกําหนด น้ําหนักทารกแรกคลอดต่ำ หรืออาจเพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตของทารกในครรภ์อีกด้วย


ดังนั้น ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีส้มหรือสีแดง ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือหากต้องออกนอกบ้านควรสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น และควรสังเกตอาการตัวเองและคนในครอบครัว หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก คลื่นไส้ หรือวิงเวียนศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์


ที่มา : กรมอนามัย 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง