รีเซต

เอดีบีหั่นจีดีพีไทยโต 2% - ปรับลดเศรษฐกิจประเทศเอเชียกำลังพัฒนา อยู่ที่ 7.2% ในปีนี้

เอดีบีหั่นจีดีพีไทยโต 2% - ปรับลดเศรษฐกิจประเทศเอเชียกำลังพัฒนา อยู่ที่ 7.2% ในปีนี้
ข่าวสด
20 กรกฎาคม 2564 ( 14:06 )
66

 

เอดีบีหั่นจีดีพีไทยโต 2% - ขณะที่ปรับลดเศรษฐกิจประเทศเอเชียกำลังพัฒนา อยู่ที่ 7.2% ในปีนี้ หลังโดนโควิดเล่นงาน

 

 

เอดีบีหั่นจีดีพีไทยโต 2% - ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี คาดว่าเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในประเทศเอเชียกำลังพัฒนาจะเติบโตที่ 7.2% ในปีนี้จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 7.3% ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (โควิด-19) ระลอกใหม่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้าลงในบางประเทศในภูมิภาค ส่วนแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2565 นั้นจะปรับขึ้นจาก 5.3% เป็น 5.4%

 

 

หากไม่รวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ของฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ และไทเป แนวโน้มของเศรษฐกิจเอเชียกำลังพัฒนาล่าสุดจะเติบโตที่ 7.5% ในปี 2564 และ 5.7% ในปี 2565 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 7.7% ในปี 2564 และ 5.6% ในปี 2565 รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2564 ของเอดีบี (Asian Development Outlook 2021) ฉบับเพิ่มเติมนี้ ยังนำเสนอการคาดการณ์เศรษฐกิจต่างๆ ของภูมิภาคและระดับเงินเฟ้อล่าสุดท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

 

“การฟื้นตัวของเอเชียและแปซิฟิกจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะยังไม่มั่นคงท่ามกลางการระบาดซ้ำ การเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และการกระจายการฉีดวัคซีนที่ไม่คงเส้นคงวา” นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอดีบี กล่าว “นอกเหนือจากมาตรการกักตัวและฉีดวัคซีนแล้ว การฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยแบ่งเป็นหลายระยะอย่างมีกลยุทธ์ในแต่ละกิจกรรม เช่น การค้า อุตสาหกรรมการผลิต และท่องเที่ยว-จะเป็นกุญแจสำคัญเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการฟื้นตัวจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุม และยืดหยุ่นได้”

 

 

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังคงเป็นความเสี่ยงสูงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เนื่องจากการระบาดยังคงดำเนินต่อไปในหลายประเทศ ผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันรายวันในภูมิภาคนี้ สูงถึงประมาณ 434,000 ราย ในช่วงกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา และจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อได้ลดลงมาเหลือประมาณ 109,000 ราย ในช่วงสิ้นเดือนมิ.ย. ซึ่งโดยส่วนใหญ่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อนั้นจะกระจุกตัวอยู่ในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก ในขณะเดียวกัน การกระจายการฉีดวัคซีนในภูมิภาคนี้กำลังอยู่ในเกณฑ์ก้าวหน้า โดยได้ฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวน 41.6 โดสต่อคน 100 คนภายในสิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 39.2 โดส แต่ต่ำกว่าอัตราค่าเฉลี่ย 97.6 โดส ในสหรัฐอเมริกา และ 81.8 โดส ในสหภาพยุโรป

 

 

แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 7.5% จาก 7.4% ที่เคยคาดการณ์ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ท่ามกลางการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งเกินคาดของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ ฮ่องกง เกาหลี และไทเป การคาดการณ์การเติบโตของอนุภูมิภาคสำหรับปี 2565 นั้น จะยังคงอยู่ที่ 5.1% ซึ่งแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะยังคงเดิมอยู่ที่ 8.1% ในปีนี้ และที่ 5.5% ในปี 2565 ท่ามกลางผลประกอบการที่มั่นคงของภาคอุตสาหกรรม ภาคการส่งออก และภาคบริการต่างๆ

 

 

แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียกลางในปีนี้ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% จาก 3.4% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของอาร์เมเนีย จอร์เจีย และคาซัคสถาน ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาค ส่วนแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียกลางในปี 2565 นั้น จะยังคงอยู่ที่ 4.0%

 

 

การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกในปี 2564 มีแนวโน้มลดต่ำลง เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ถูกควบคุมโดยมาตรการการกักตัวและข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียใต้ในปีงบประมาณ 2564 ถูกปรับลดลงอยู่ที่ 8.9% จาก 9.5% สำหรับประเทศอินเดีย คาดว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง 1.0% โดยจะเติบโตอยู่ที่ 10.0% ส่วนแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2564 นั้น คาดว่าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ 4.0% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.4% ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในแปซิฟิกคาดว่าจะลดลงอยู่ที่ 0.3% จาก 1.4% อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2565 สำหรับอนุภูมิภาคเหล่านี้คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 7.0%, 5.2% และ 4.0% ตามลำดับ

 

 

ส่วนอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในปีนี้ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.4% จาก 2.3% ที่คาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 จะยังคงอยู่ที่ 2.7%

 

 

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค

 

 

สำหรับประเทศไทย เอดีบีได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงอยู่ที่ 2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ 3% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากการแพร่ระบาดเชื่อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 เมื่อเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนลดลงโดยเฉพาะเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ต่างๆ ในขณะที่การจำกัดการท่องเที่ยวที่ยังดำเนินอยู่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว ส่วน GDP ของปี 2565 คาดว่ากระเตื้องขึ้นอยู่ที่ 4.9% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.5%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง