เปิดประวัติ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” มือกฎหมายพรรคเพื่อไทย สู่เก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

ภายหลังมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลที่นำโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยอีกหนึ่งตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งที่น่าสนใจ คือ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ประวัติ ชูศักดิ์ ศิรินิล
ชูศักดิ์ ศิรินิล มีชื่อเล่นว่า ตุ๋ย เกิดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 ที่อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร
ประวัติการศึกษา
- ปริญญาตรี นิติศาสตร์ (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
- ปริญญาโท สาขากฎหมายเปรียบเทียบ มหาวิทยาลัย Southern Methodist สหรัฐอเมริกา
ประสบการณ์การทำงาน
เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ. 2515 เรื่อยมาจนกระทั่งได้รับตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2532-2535 และได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบด มหาวิทยาลัยรามคำแหงอีก 2 สมัยติดต่อกัน ระหว่างปี พ.ศ. 2532-2537
นอกเหนือจากการเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแล้ว ยังเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ป.) ปัจจุบันคือ ป.ป.ช. และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
งานด้านการเมือง
เข้าร่วมงานการเมืองโดยการเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระบบบัญชีรายชื่อ ในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 และยังเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรหลายคณะ ต่อมาภายหลังการยุบพรรคไทยรักไทย พ.ศ. 2549 ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคพลังประชาชน และได้รับตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค
การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 ซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลรับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ต่อมาภายหลังจากการพ้นจากตำแหน่งของนายสมัคร สุนทรเวช ซึ่งพรรคพลังประชาชน ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เสนอชื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ในปี พ.ศ. 2551 ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 22 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 12 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
ในปี พ.ศ. 2563 ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งอีกสามปีถัดมา ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ในลำดับที่ 4 และได้รับการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ หลังจากนายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการมีมติเลือกนายชูศักดิ์ เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค ต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม ปีเดียวกัน ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยมีมติให้แพทองธาร ชินวัตร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และนายชูศักดิ์ เป็นรองหัวหน้าพรรรคอีกครั้ง
ภาพจาก พรรคเพื่อไทย