รฟม.เร่งรถไฟฟ้า2สาย BEMตั้งทีมตะลุยสีส้ม
#BEM #ทันหุ้น - บอร์ด รฟม.ไฟเขียวจ้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 6 สัญญา พร้อมเดินหน้าประมูลสายสีส้มตะวันตก คาดเริ่มประมูล มี.ค.-ส.ค. ปีนี้ ขณะที่ BEM เอาจริงตั้งทีมชิงสายสีส้ม ยกงานก่อสร้างให้ CK ทั้งหมด ชูต้นทุนต่ำ เชี่ยวชาญ ขณะที่ บิ๊ก “สมบัติ กิจจาลักษณ์” ชี้ฝ่าวิกฤติโควิดได้ ควัก 1.2 พันล้านบาท จ่ายเงินปันผล 0.08 บาทต่อหุ้น
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ รฟม. (บอร์ด) วานนี้ (24 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติสั่งจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 1-6 กับผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุดของแต่ละสัญญา ขั้นตอนต่อไป รฟม. จะประกาศผลผู้ชนะการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธา ก่อนจะลงนามสัญญาว่าจ้างในเดือนมีนาคมนี้เพื่อเริ่มก่อสร้าง
@คืบประมูลสายสีส้ม
แหล่งข่าวจาก บอร์ด รฟม. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ได้รายงานกรอบระยะเวลาการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หรือ สายสีส้มตะวันตก หลังคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน เพื่อประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ทั้งนี้คณะกรรมการคัดเลือก ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) บนเว็บไซต์ของรฟม.ตั้งแต่ 17 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2565
โดยคาดว่าจะเปิดขายซอง RFPและเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนระหว่างเดือนมีนาคม – สิงหาคม 2565จากนั้นเอกชนผู้ชนะการประมูลจะเริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินงานประมาณช่วงปลายไตรมาส 3/2565 – ไตรมาส 4/2565 เพื่อให้โครงการส่วนดังกล่าวสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
@BEM ตั้งทีมชิงสีส้ม
แหล่งข่าวในวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEMได้ตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาศึกษาและเตรียมความพร้อมเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยได้คำนวนต้นทุนการดำเนินงานทั้งส่วนของงานโยธา(Civil Work) ซึ่งมีแนวโน้มว่าต้นทุนการดำเนินงานจะสูงขึ้นตามค่าวัสดุก่อสร้าง, ราคาน้ำมัน, และค่าจ้างแรงงาน และงานวางระบบรถไฟฟ้า (M&E)ซึ่งบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากเป็นการดำเนินงานทั้งสายทาง (ระยะทาง 39.6 กิโลเมตร)
“งานก่อสร้าง BEM คงตัดจ้างCK ไปทั้งก้อนให้ CK ไปบริหารจัดการต้นทุนเอง ส่วนงานวางระบบเนื่องจากเป็นงานที่รวมทั้ง 2 ส่วนดังนั้นการสั่งวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ สามารถสั่งซื้อเป็นล็อตใหญ่ๆ ได้ แต่ทยอยรับของตามกรอบเวลา ทำให้สามารถล็อกต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งหากมองไปถึงโครงการสายสีม่วงด้วยแล้ว BEM สามารถวางแผนจัดการต้นทุนได้ดีมากๆ”
ขณะที่ในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานของบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCHผู้บริหารให้ข้อมูลว่าบริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในกลุ่มธุรกิจนอกเหนือการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดย 1 ในโครงการที่เตรียมจะเข้าประมูลร่วมกับ “พันธมิตรเดิม” ซึ่งก็คือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
@ BEM ปันผล 0.08 บ.
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2564 ว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ตลอดทั้งปี แต่ด้วยการบริหารจัดการต้นทุนประกอบกับการมีเงินลงทุนที่ดี บริษัทจึงมีรายได้เงินปันผลสม่ำเสมอทำให้ในปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสิ้น 1,010 ล้านบาท ลดลง 50.8% รายได้จากการดำเนินงาน 10,726 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 20.5% โดยรายได้จากธุรกิจทางพิเศษทั้งสิ้น 6,450 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 20.8% ขณะที่รายได้จากธุรกิจระบบรางอยู่ที่ 3,454 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 23.6%
ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2564 โดยจ่ายจากกำไรสะสมในอัตราหุ้นละ 0.08 บาท เป็นเงิน 1,223 ล้านบาท